จากการทำข้อมูลของสำนักข่าวกะเหรี่ยง (Karen News) ระบุว่า ในช่วง 20 ปี ของการสู้รบภายในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ส่งผลให้ประชาชนในภาคตะวันออกของประเทศกว่า 600,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในรัฐ และในช่วงปี 2017 ยังมีผู้พลัดถิ่นภายในรัฐมากกว่า 400,000 คน ตกอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้อยู่ในช่วงการหยุดยิงเพื่อพัฒนาแนวทางสันติภาพภายในประเทศ ขณะที่มีผู้หนีภัยการสู้รบมากกว่า 1 แสนคน หนีภัยอยู่ในค่ายผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย และมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังคงซ่อนตัวอาศัยอยู่ในป่าเขตรัฐกะเหรี่ยง ปัจจุบันผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยงกำลังถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า NGOs ต่างชาติ และภาคประชาสังคมบางส่วนในประเทศพม่าให้กลับไปยังชุมชนดั้งเดิมของตนเองซึ่งเป็นแผนงานหนึ่งในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นองค์กรเหล่านี้ยังพยายามตัดลดงบประมาณ ทั้งด้านอาหาร การศึกษา และการแพทย์ ภายในสิ้นปี 2017 ลง ซึ่งสร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อผู้หนีภายสงครามภายในรัฐ เพราะสถานการณ์โดยรวมภายในประเทศพม่ายังไม่สามารถไว้ใจเรื่องความมั่นคงในชีวิตได้เลย เห็นได้จากภาพการสู้รบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทางตอนเหนือของประเทศ ค่ายอิตูท่า ริมแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย เป็นค่ายผู้พลัดถิ่นภายในรัฐ (Internally Displaced Person – IDP) ที่ใหญ่ที่สุดบริเวณชายแดนตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการปรับลดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทังหมด ผู้ลี้ภัยในค่ายแห่งนี้จึงรวมตัวส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลพม่าผ่านช่องทางสื่อภายในประเทศช่วงวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้กองทัพพม่าถอนทหารออกจากชุมนุมดั้งเดิมของพวกเขา ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยากกลับไปยังถิ่นฐานเดิม
แต่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากทหารพม่าที่ไล่พวกเขาออกจากหมู่บ้าน รวมทั้งทำลายบ้านเรือนพวกเขา ขณะที่กับระเบิดจำนวนมากยังคงถูกฝังไว้ในหมู่บ้าน พื้นที่ทำกิน และชายป่ารอบหมู่บ้าน และการประชุมสัญญาปางหลวง ศตวรรษที่ 21 รวมถึงการเจรจาพัฒนาแนวทางสันติภาพประเด็นะผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในกลับไม่ถูกยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ปัจจุบันค่ายอพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า (ในประเทศไทย)มีทั้งมีทั้งหมด 9 แห่ง เป็นค่ายที่รองรับชาวคะเรนนี 2 แห่ง และค่ายรองรับชาวกะเหรี่ยง 7 แห่ง ส่วนพื้นที่ ริมน้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงตรงข้าม อ.แม่สะเรียง มีค่ายผู้พลัดถิ่นตั้งเป็นทางการ 2 แห่ง คือ ค่ายอีตูท่า กับ ค่ายอูแวโกล ทั้งนี้ชาวบ้านทั้งสองอพยพมาในช่วงปลายปี 2005 จากเขตตองกู ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงใหม่ เนปีดอว์ ซึ่งการตั้งเมืองหลวงใหม่ครั้งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการหนีภัยเพราะมีการกวาดล้างชาวบ้านกะเหรี่ยง และครั้งนั้นเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง นาง หน่อ ทา เน่ ผู้อพยพในค่ายอิตูท่าเล่าว่า “หลังจากที่พวกเราหนีออกจากหมู่บ้าน ทหารพม่าก็ได้เข้าไปวางกำลังในเขตชุมชน แล้วเราจะกล้ากลับอย่างไร เราจึงขอเรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนกำลังออกจากชุมชนของเรา ช่วงหลังนี้ทหารพม่าส่งยุทโธปกรณ์เข้าไปเพิ่ม รวมถึงเสริมความมั่นคงของฐานที่มั่น” นาย ซอ พอ เลอ กา ผู้อพยพอีกคนหนึ่งเล่าว่า “ตั้งแต่ผมเกิดมาก็รับรู้ถึงความโหดร้ายของทหารพม่ามาโดยตลอด ผมเห็นคนถูกยิงตายต่อหน้าโดยทหารพม่า ด้วยเหตุนี้เราจะไม่กลัวเขาได้อย่างไร ผมต้องหนีพวกเขามา 48 ปีแล้ว วันนี้จะให้ผมกลับไปอยู่ร่วมกับเขาอีก อย่างไรเราก็ไม่กลับ ถ้าเขาไม่ถอนกำลังออก อยู่ที่นี่แม้จะไม่มีความช่วยเหลือใดๆต่อไป ผมก็จะทน เพราะกลับไปไม่มีหลักประกันความปลอดภัยใดๆ เลย” ด้านนาย มาบู เจ้าหน้าที่องค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เขตมือตรอ กองพลที่ 5 ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีค่ายอีตูท่า โดยเชิญองค์ภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงต่างๆ เข้าร่วม เช่น องค์สตรีกะเหรี่ยง องค์กรครูกะเหรี่ยง องค์กรแพทย์สนาม และอีกหลายหน่วยงานที่คิดว่าจะสามารถคลี่คลายความกังวลนี้ได้ โดย ในส่วนขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม และสังคมกะเหรี่ยงนั้น ได้เข้ามาดำเนินการเตรียมความพร้อมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการผลิตอาหารเอง แต่ปัญหาที่พบจากการดำเนินการกว่า 2 ปีคือเรื่องพื้นที่ทำกิน นาย มาบู กล่าวว่า พื้นที่ทำกินมีมากพอ แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ปลอดภัย แน่นอนคือเรื่องกับระเบิดที่ยังหลงเหลือจำนวนมาก และทั้งทางเหนือ และทางใต้ของค่ายอีตูท่า มีฐานปฏิบัติการของทหารพม่าอยู่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังหาทางช่วยเหลือ ซึ่งเพิ่งมีการประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้มีผู้หนีภัยที่ยอมเสี่ยงกลับไปแล้ว 30 ครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งคงไม่ได้กลับไปอยู่หมู่บ้านเดิม แต่ด้วยความกดดันต่างๆ ทำให้พวกเขาตัดสินใจแบบนั้น จากการสำรวจเบื้องต้นมีรายงานว่าบางคนเริ่มตัดสินใจออกจากค่ายหากมีการตัดความช่วยเหลือ แต่ส่วนใหญ่ยังตัดสินใจอยู่ที่ค่ายเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย “ส่วนตัวผมคิดว่าถ้ามีหลักประกันความปลอดภัย พวกเขาก็สามารถทำกินเองได้ แต่ตอนนี้เรื่องความปลอดภัย เรายังไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้ เพราะแม้จะมีการลงนามหยุดยิง แต่กองทัพพม่าก็ยังอยู่ในพื้นที่ และถึงแม้ทหารพม่าจะถอนกำลังพวกเขาก็ยังยากที่จะกลับเร็วๆ นี้ เพราะยังคงมีอันตรายเกี่ยวกับกับระเบิด” นาย มาบู กล่าว ทั้งนี้สถานการณ์การลดงบประมาณช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย ที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงกระแสข่าวส่งกลับผู้อพยพในฝั่งประเทศไทย กลับประเทศต้นทาง เบื้องต้น นาย บวย เซ เลขาธิการคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง (Karen Refuge Committee – KRC) เปิดเผยว่ายังไม่มีการให้ข้อมูลว่าจะมีการส่งกลับผู้อพยพในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่มีการปรับลดงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย สำหรับข่าวผู้ลี้ภัยที่กลับไปยังประเทศต้นทางช่วงเดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมาเป็นเหมือนการดำเนินการระหว่างรัฐกับรัฐในการรับสมัครผู้อพยพที่สมัครใจกลับประเทศต้นทาง ในรายละเอียดนั้นคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงไม่ทราบ และไม่มีข้อมูลเลยว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ติดตามประเมินภายหลังผู้อพยพชุดแรกเดินทางกลับประเทศต้นทาง เลขาธิการ KRC กล่าวว่า สำหรับปี 2017 นี้ มีผู้แจ้งความประสงค์กลับประเทศต้นทางผ่านคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงแล้ว 60 ครอบครัว จำนวน 202 คน จาก 3 ค่าย คือ ค่ายแม่หละ อ.ท่าสองยาง ค่ายอุ้มเปี้ยมใหม่ อ.พบพระ และค่ายนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประสานความร่วมมือส่งกลับ แต่สำหรับพื้นที่เตรียมรับผู้หนีภัยการสู้รบที่ก่อสร้างใหม่ไม่ไกลจากเมืองเมียวดี ทางคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง ได้รับข้อมูลจาก เคเอ็นยู ว่า เป็นพื้นที่รองรับผู้พลัดถิ่นภายในซึ่งมีจำนวนมาก แต่หากผู้อพยพในฝั่งประเทศไทยมีความประสงค์ย้ายกลับมายังพื้นที่รองรับประเทศต้นทางสามารถทำเรื่องประสานงานได้ “การแร่งรัด หรือกดดันให้ผู้อพยพสมัครใจกลับในช่วงนี้ ผมคิดว่ายังไม่เหมาะสม เพราะสถานการณ์สันติภาพในประเทศพม่าแม้มีการลงนามหยุดยิงเพื่อพัฒนาสันติภาพ แต่ขณะนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ ประชาชนที่กลับไปยังคงต้องอยู่อย่างหวาดกลัวภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์”นาย บวย เซ กล่าว ———— ค่ายอพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า (ในประเทศไทย) มีทั้งมีทั้งหมด 9 แห่ง เป็นค่ายคะเรนนี 2 แห่ง และค่ายกะเหรี่ยง 7 แห่ง ส่วนในรัฐกะเหรี่ยง ริมน้ำสาละวินตรงข้าม อ.แม่สะเรียง ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในที่ตั้งเป็นทางการ 2แห่ง คือ ค่ายอีตูท่า กับ ค่ายอูแวโกล ชาวบ้านทั้งสองอพยพมาช่วงปลายปี 2005 จากเขตตองกู กองพลที่ 2 ไม่ไกลจากเมืองหลวงใหม่ เนปีดอว์ การตั้งเมืองหลวงใหม่ทำให้เกิดการกวาดล้างชาวบ้านกะเหรี่ยงในเขตป่า จองตองกู เกือบทั้งหมดออกจากพื้นที่ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=17264 .