สำนักข่าวกะเหรี่ยง Karen News ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงอีก 23 คน จากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละได้เดินทางไปถึงกรุงโซล เกาหลีใต้ จนถึงขณะนี้มีผู้ลี้ภัยจากพม่าจำนวน 86 คน ที่ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศเกาหลีใต้แล้ว หลังจากลี้ภัยสงครามความขัดแย้งในพม่ามาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายปี “เราไปที่สนามบินเพื่อไปต้อนรับพวกเขา พร้อมกับหัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ UNHCR ตัวแทนจากสภากาชาดและล่ามชาวกะเหรี่ยง เราได้จัดสถานที่อยู่อาศัยให้พวกเขาที่ศูนย์สนับสนุนชาวต่างชาติ” นอ เอ ซา พอ จากองค์กรเกาหลีกะเหรี่ยง (Korea Karen Organization – KKO) กล่าว ภายใต้โครงการนำร่อง 3 ปี มีรายงานว่า เกาหลีใต้ได้เริ่มรับผู้ลี้ภัยจากพม่าเมื่อปี 2558 จำนวน 22 คน ในปี 2559 อีกจำนวน 34 คน และอีก 23 คน ที่เดินทางถึงเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งโครงการตั้งรกรากถิ่นใหม่ในประเทศเกาหลีใต้นั้นจะครบกำหนด 3 ปีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยผู้ลี้ภัยจากพม่าจะได้รับหนังสือเดินทางประเภท F-2 ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศเกาหลีใต้ได้ โดยผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาถึงกรุงโซล จะถูกจัดให้พักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ที่ทางการเกาหลีใต้จัดไว้ให้ชั่วคราว เพื่อเรียนรู้ภาษาเกาหลีและได้รับการฝึกอาชีพเป็นเวลา 6 เดือน และภายใน 3 ปี ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะมีสิทธิ์สอบเพื่อเป็นพลเมืองเกาหลีใต้ “เราสอนภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีให้กับพวกเขาเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากครบ 6 เดือน เราจะให้พวกเขาอพยพไปอยู่ข้างนอกศูนย์เพื่อหางานให้พวกเขาทำ และหาที่อยู่ให้พวกเขา เด็กๆ จะได้ไปโรงเรียน” นายซอทุนทุน เลขาธิการจากองค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง(เกาหลี) กล่าว ขณะที่พบว่า ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ลี้ภัยใช้ระยะเวลานาน 5 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละและค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยม ทั้งนี้ มีผู้ลี้ภัยจากพม่าที่มาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้ง 9 แห่ง ราว 1 แสนคน ขณะที่การกลับไปอยู่ในบ้านเกิดของพวกเขายังคงเป็นคำถาม เนื่องจากสภาพการเมืองในประเทศที่ยังไม่มั่นคง รวมไปถึงยังไม่มีความปลอดภัย เช่น ในหมู่บ้านยังมีทหารพม่ามายึดครองและเคลื่อนไหว หรือยังคงเต็มไปด้วยกับระเบิด ขณะที่ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายจากองค์กรระหว่างประเทศก็กำลังถูกตัดงบลงไปเรื่อยๆ จากรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ยังชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทยพม่ายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว เนื่องจากความสิ้นหวังท้อแท้ในชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยที่ถูกจำกัดสิทธิในหลายด้าน รวมถึงการมองไม่เห็นทางออกสำหรับอนาคตทำให้หลายคนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ที่มา Karen News แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=17270 .