รัฐบาลส่ง รมว.แรงงานเดินสายหารือ 3 ประเทศ พม่า ลาว และกัมพูชา ร่วมกัน แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยมีความคล่องตัวขึ้น ขณะ “บิ๊กตู่” ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะต้นทางประเทศดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ จึงต้องออกกฎหมายมาจัดระเบียบ เตือนผู้ประกอบการอย่าเอาแต่ได้ แนะทั้งภาครัฐ-ภาคประชาชน-ผู้ประกอบการ-แรงงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน สั่งเปิดศูนย์เฉพาะกิจทุกจังหวัด และ 10 พื้นที่ในกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยการ-บริหารจัดการให้ทันก่อนกฎหมายบังคับใช้ทั้งฉบับ ด้านประมง-เกษตรหนุนจัดระเบียบ ชี้ที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเยอะมาก
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง นายหลี บุญค้ำ เอกอัคร ราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสจะพ้นจากตำแหน่งว่า ในการพูดคุยได้คุยถึงเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยว่าเป็นการจัดระเบียบของไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตมีความเข้าใจดี และบอกด้วยว่าคนลาวยังอยากเข้ามาทำงานในไทย เพราะได้ค่าจ้างสูงกว่าทำงานในประเทศเขา และชาวลาวเขาถือว่าได้มาทำงานต่างประเทศ มาทำงานประเทศไทย เขาอยากมา ซึ่งไทยยืนยันไปว่าเราต้องการจัดระเบียบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบคือ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานจะได้เดินสายพูดคุยกับเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว เพื่อให้การเคลื่อนแรงงานในอาเซียนเกิดความเคลื่อนตัวอย่างคล่องตัว ทุกประเทศร่วมกันทำให้ง่ายขึ้น
วันเดียวกัน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวถึงปัญหาการไหลออกของแรงงานต่างด้าวว่า แรงงานเป็นส่วนสำคัญของพืชเศรษฐกิจ รัฐควรมีมาตรการและแผนรองรับ ตนคงไม่ก้าวล่วงในขั้นตอนปฏิบัติ แต่อยากให้คุยกันทั้งระบบทั้งวิธีการและปริมาณ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ
เมื่อเวลา 20.15 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอนหนึ่งถึงเรื่องแรงงานต่างด้าวว่า ข้อดีวันนี้ที่เห็นคือดีใจที่คนไทยตื่นตัวในเรื่องกฎหมายและการปฏิรูปมากขึ้น ซึ่งอยากให้เข้าใจตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในเรื่องกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งเราแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนทุกครั้งในเวทีระหว่างประเทศว่าจะป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ให้ถึงที่สุด
นายกฯ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติไปแล้ว ราว 3 ล้านคน แต่อุปสรรคสำคัญ คือการพิสูจน์สัญชาติโดยประเทศต้นทาง ทำให้ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และได้ผ่อนผันให้มาตลอด หากยังพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ก็ให้ถือบัตรสีชมพูไปพลางก่อน เรื่องนี้ ขอให้พิจารณาด้วยใจที่เป็นกลาง อย่ามองปัญหาในเชิงธุรกิจแต่เพียงด้านเดียว เรื่องแรกที่เราต้องดำเนินการ คือ การจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด หากทำได้เรียบร้อย เป็นระบบ เราจะบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืนตรงตามความต้องการตลาดแรงงานในประเทศที่เราต้องการ ทุกภาคการผลิตและบริการไม่มีการแย่งงาน ไม่มีการหนีงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เป็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ แล้วศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็หายไป
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ คนที่ไม่เคยรู้ ควรเปิดหูเปิดตาไม่ใช่หลับตาปิดใจ วิพากษ์วิจารณ์โดยปราศจากข้อมูล เราต้องเอาความจริงมาพูด มาเสนอแนะกัน ให้ความรู้ด้วยความจริงกับสังคมว่าถ้าหากว่าไม่ให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเลย จะไม่มีใครทำงานในโรงงานต่างๆ แม้แต่เด็กปั๊ม เด็กเสิร์ฟ ร้านอาหาร ไปจนถึงแรงงานในบ้าน แรงงานในสวนนาไร่ หรือการกรีดยาง และในเรือประมง ก็มีแรงงานเหล่านี้ ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่หยุดชะงัก ฉะนั้น อย่าไปพูดจาให้มันเสียหาย เพราะในเมื่อเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเราแล้ว ด้วยหลักมนุษยธรรม และ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แรงงานเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมของเรา ซึ่งต้องได้รับสวัสดิการตามสมควร ที่รัฐต้องดูแลตามหลักสากลด้วยซึ่งมีกระบวนการค่าใช้จ่ายตามปกติ ไม่ต่างอะไรจากคนไทยที่ต้องไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน เพราะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่สำคัญ เราจะเอาแต่ได้ โดยไม่ยอมเสียอะไรเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องไม่ใช่การเสียความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรัฐบาลจะไม่ยอมปล่อยปละละเลย ให้เป็นปัญหาคาราคาซังอีกต่อไป ให้เวลาไปแล้ว ต้องไปหาวิธีการดำเนินการกันให้ได้ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ แรงงานต่างๆ ก็ต้องร่วมมือ หลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้มาก่อน ทั้งนี้ การที่เราเคยเปิดให้จดทะเบียนไปแล้ว เมื่อปีพ.ศ. 2557 กว่า 1.3 ล้านคน เป็นเพียงความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่แรงงานที่ไม่เข้ามาอยู่ในระบบ และแรงงานที่เข้าๆ ออกๆ หมุนเวียนมาใหม่ ด้วยช่องทางที่หลีกเลี่ยงกฎหมายของข้าราชการที่ทุจริตบ้าง นายหน้าบ้างนายจ้างบ้าง ก็สร้างปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่วงจรแรงงานทาสบ้าง ค้ามนุษย์บ้าง ที่ส่งผล กระทบในภาพรวมของประเทศ ผู้ประกอบการเอง ประสบปัญหาการเปลี่ยนงานของแรงงานต่างด้าวอยู่ตลอดเวลา ทำให้มันถูก มันจะได้ชัดเจนขึ้น บางครั้งเสียเงิน เสียเวลา ฝึกฝนจนใช้งานได้ ก็ถูกดึงไปใช้ เพราะอะไร เพราะเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็เลยเกิดความไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างเดิม เหล่านี้เป็นต้น
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ก็มีข้อตกลงทำ เอ็มโอยูกันระหว่าง 3 ประเทศได้ระบุไว้ว่า ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติ ณ ชายแดนประเทศต้นทางที่มีสำนักงานอยู่เท่านั้น ซึ่งควรจะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ที่ผ่านมามันปล่อยเข้ามาหลายปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ จนเราต้องเข้ามาหามาตรการชะลอไป วันนี้มันชะลอ ไม่ได้ มันต้องเข้ามาสู่กระบวนการที่มันถูกต้อง ก่อนเข้ามาในปลายทางของแต่ละประเทศ ก็มีการพิสูจน์สัญชาติมาก่อน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อเรามีพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ออกมา ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ปัญหาเราอยู่ตรงที่แรงงานที่เข้ามาอีกบางส่วนยังคงไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา บางส่วนทำแล้วไม่สมบูรณ์ คงต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อยที่ชายแดน ถ้าเราทำครั้งนี้เรียบร้อยก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป ต้องขออภัยในความยุ่งยากด้วย และเพื่อจะได้เข้ามาอย่างถูกต้อง เราไม่สามารถจะอนุญาตให้เข้ามาก่อน ให้มาขึ้นทะเบียนแล้วมาพิสูจน์สัญชาติภายหลังได้อีกต่อไป ทั้งนี้มันเป็นการเปิดโอกาสให้ทำผิดกฎหมายอีก แล้วมันต้องไปพันกับค้ามนุษย์ ไปพันกับไอยูยูต่างๆ เหล่านั้น แล้ววันหน้าถ้ายังคงมีอาการประเภทเหล่านี้อยู่ ค้ามนุษย์ ผิดกฎหมาย แล้วเขาไม่ซื้อสินค้าอื่นๆ แล้ว จะเป็นอย่างไร ฉะนั้นคนที่ออกมาเรียกร้อง ต้องเข้าใจประเด็นนี้ด้วย
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_434756