“สีพันดอน”หงอย เหตุทางการลาวห้ามใช้เครื่องมือสำคัญจับปลา ทำเอาเศรษฐกิจซบเซาหลังเดินหน้าเต็มสูบเขื่อนฮูสะโฮงกั้นโขง ..

“สีพันดอน”หงอย เหตุทางการลาวห้ามใช้เครื่องมือสำคัญจับปลา ทำเอาเศรษฐกิจซบเซาหลังเดินหน้าเต็มสูบเขื่อนฮูสะโฮงกั้นโขง 0 BY ADMIN ON 22 มิถุนายน, 2017 ประเทศเพื่อนบ้าน, ไม่มีหมวดหมู่ สภาพหลี่ในสีพันดอนที่ถูกรื้อในปีนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งปกติในช่วงนี้เป็นฤดูกาลน้ำหลากซึ่งทั้งเมืองจะมีความคึกคักมากเนื่องจากเป็นฤดูที่มีฝูงปลามากมายอพยพเข้ามาหากินและเป็นทางผ่านไปยังบริเวณแม่น้ำโขงทางตอนบนทำให้ชาวบ้านต่างจับปลาได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะจากเครื่องมือที่เรียกว่า หลี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือหาปลาขนาดใหญ่ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งใช้จับปลาในบริเวณช่องน้ำตามเกาะแก่งที่น้ำไหลแรง ทั้งนี้ในแต่ละปีที่ผ่านมาปริมาณปลาที่จับได้ในฤดูนี้มีมากนับร้อยตัน ทำให้เศรษฐกิจของเมืองโขงคึกคักเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามล่าสุดจากการสำรวจพบว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากนับตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นมา

ทางการลาวได้มีคำสั่งห้ามใช้หลี่หาปลาอย่างเด็ดขาด โดยคำสั่งมีภายหลังจากที่โครงการสร้างเขื่อนฮูสะโฮงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง และคำสั่งนี้มีประชาชนลาวจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย ต่อมาทางการลาวได้ขยายคำสั่งห้ามครอบคลุมพื้นที่เมืองโขงทั้งหมดโดยอ้างถึงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ทั้งนี้คำสั่งห้ามสร้างหลี่จับปลาในปีนี้อย่างเด็ดขาด ทำให้บรรยากาศการหาปลาของเมืองโขงซบเซากว่าปีก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด แฟ้มภาพตาดโพเมื่อ 3 ปีก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนฮูสะโฮงชาวบ้านต่างหาปลากันอย่างคึกคักในช่วงนี้โดยมีหลี่เป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ปัจจุบันบริเวณนี้ถูกถมหมดแล้วเพื่อสร้างเขื่อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณตาดโพ ซึ่งเป็นช่องน้ำของฮูสะโฮง และเคยเป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญและเคยมีหลี่อยู่จำนวนมาก แต่ปรากฏว่าขณะนี้ได้มีการถมดินปิดทับเพื่อก่อสร้างเขื่อนจนไม่เหลือสภาพช่องน้ำสำคัญของแม่น้ำโขง ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านที่เป็นเจ้าของหลี่ต่างบอกว่าไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เนื่องจากทางการลาวถือว่าเป็นวิธีการหาปลาที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับบริเวณช่องน้ำต่างๆที่เคยเป็นแหล่งหาปลาชุกชุมได้มีคำสั่งจากทางการลาวห้ามสร้างหลี่โดยเด็ดขาด โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทางการได้รื้อหลี่ออกทั้งหมด โดยที่บริเวณคอนปลาส้อย พื้นที่หาปลาที่เคยคึกคักด้วยคนหาปลาซึ่งในอดีตมีหลี่นับสิบหลัง แต่ในปีนี้กลับเงียบเหงาโดยชาวบ้านต้องเปลี่ยนเครื่องมือหาปลาจากหลี่เป็นการใช้ลอบดักปลา และตาข่ายซึ่งได้ปลาเพียงเล็กๆน้อยๆ เทียบไม่ได้กับปีที่ผ่านๆ มา สภาพหลีที่คอนปลาส้อยที่ถูกรื้อร้าง “เจ้าหน้าที่รัฐคอยเฝ้าและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เขาเข้มงวดมากบางวันมีตำรวจบ้านคอยนั่งเฝ้าที่ท่าเรือเพื่อดูว่าใครหาปลากลับมาได้มากผิดปกติหรือไม่ หากได้ปลามากๆเขาก็สงสัยว่าแอบสร้างหลี่ไว้ พวกเราชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องหากินกันไปตามมีตามเกิด”ชาวประมงรายหนึ่งกล่าว ขณะที่พ่อค้าปลารายหนึ่งซึ่งรับซื้อปลาจากชาวประมงกล่าวว่า การซื้อขายปลาปีนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆเพราะมีชาวบ้านนำปลามาขายน้อยเห็นได้ชัดเจนคือที่ตลาดปลานากะสังซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อปลาใหญ่ที่สุดในสีพันดอน โดยส่งปลาบรรจุลังน้ำแข็งไปขายถึงปากเซ และ จ.อุบลราชธานี แต่ปีนี้มีการซื้อขายปลาลดลงมาก พ่อค้าบางรายจากที่เคยนำปลาส่งไปขายทุกวัน แต่ปีนี้ต้องนำปลามาเก็บไว้ในตู้เย็นสะสมไว้เพื่อส่งขายคราวละมากๆถึงจะคุ้มค่า “ปีนี้ซบเซามากเพราะรายได้หลักของเมืองนี้มากจากปลาซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการใช้หลี่ แต่ปีนี้ห้ามใช้หลี่เพราะสร้างเขื่อน ทำให้รายได้ของชาวบ้านขาดหายไปมากและเศรษฐกิจด้านต่างๆที่ต่อเนื่องจึงพลอยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง” พ่อค้าปลารายดังกล่าว ระบุ อนึ่งพื้นที่หาปลาที่สำคัญของเมืองโขง คือพื้นที่ซึ่งเรียกว่า สีพันดอน เป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงแผ่ออกเป็นเกาะแก่งน้อยใหญ่จำนวนมาก กินอาณาบริเวณจากฝั่งหนึ่งจรดถึงอีกฝั่งหนึ่งกว้างกว่า 14 กิโลเมตรลงไปจรดชายแดนกัมพูชา บริเวณสีพันดอนมีเกาะแก่งและน้ำตกที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิ น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผี โดยในต้นปี 2559 ได้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (กำลังผลิตติดตั้ง 260เมกะวัตต์) ปิดกั้นฮูสะโฮง ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องสำคัญที่ปลาแม่น้ำโขงใช้ว่ายอพยพจากทางตอนล่าง (กัมพูชา) ขึ้นไปตอนบน โดยบริษัทเมกะเฟิร์ส ของมาเลเซียได้รับสัมปทาน และบริษัทไซโนไฮโดร จากจีน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเป็นเขื่อนแห่งที่สอง ที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงสายประธานในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ////////////////////

 

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก….ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=16982 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *