เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) ได้ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ค่ายผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งในรอบสองปีมานี้ มีผู้ลี้ภัยได้ฆ่าตัวตายไปแล้ว 28 ราย และพยายามฆ่าตัวตาย 66 ราย เป็นอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่า 3 เท่าของการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยจากทั่วโลก ทั้งนี้พบว่า ความเครียดจนนำไปสู่การปลิดชีพตัวเองในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ความยากลำบากในเรื่องเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต รวมไปถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา โดยยังพบว่า กลุ่มที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตายคือ ชายอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยยังพบว่าผู้ที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาวที่อายุระหว่าง 16-25 ปี นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า มีเด็กรายหนึ่งได้ฆ่าตัวตาย และเด็กอีก 3 รายก็ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วย โดยพบว่า คนที่ฆ่าตัวตายกว่าครึ่งพบมีปัญหาชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ยังพบมีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์และสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือป้องกันการฆ่าตัวตาย จัดตั้งที่ปรึกษาด้านครอบครัวและจัดหาจิตแพทย์เป็นต้น เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากพม่าราว 1 แสนคนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) ได้จัดประชุมที่ย่างกุ้ง โดยได้แสดงความเป็นห่วงถึงอนาคตของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับพม่า เพราะขณะนี้ยังไม่มีแผนดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังค่อย ๆ ถูกตัดงบช่วยเหลือลง โดยทางกลุ่มยังแสดงความเป็นห่วงว่า ผู้ลี้ภัยจะถูกบังคับให้เดินทางกลับพม่า ขณะที่แม้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU จะลงนามหยุดยิงร่วมกับทางพม่าแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่า แผนดำเนินการเพื่อพาผู้ลี้ภัยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ทั้งการทำลายกับระเบิดและการสร้างงาน รวมถึงกระบวนการสร้างสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก มีรายงานด้วยว่า แทนที่กองทัพพม่าจะถอนกำลังออกจากรัฐกะเหรี่ยง กลับมีค่ายทหารพม่าเพิ่มขึ้นในเมืองผาปูน จากที่มีอยู่ 65 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 81 แห่ง นาย ซอ จ่อ ซา โฆษกของเครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยงระบุว่า “หลังการลงนามหยุดยิงแห่งชาติระหว่าง KNU และทหารพม่าแล้ว ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากมองว่าจะเกิดสันติภาพในบ้านเกิดของพวกเขา แต่นั่นเป็นการเข้าใจผิดมาก” นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในสัญญาหยุดยิงแห่งชาติ แม้จะระบุว่าจะมีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งทาง UNHCR ได้ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยจากพม่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเป็น 490,300 คน เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าอาศัยอยู่ในบังกลาเทศจำนวน 276,200 คน ประเทศไทย 102,600 คน มาเลเซีย 87,00 คน และในอินเดียอีก 15,600 คน สาเหตุการอพยพลี้ภัยมากจากสาเหตุสงคราม ความรุนแรง และการกดขี่ในพม่า ที่มา DVB/Mizzima/รอยเตอร์ แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอบคุณแหล่งข่าว : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=16975 .