ตุ๋น 4 หมื่นคน แชร์สัมมนา ส่วนคดีดร.จุฬา ฝากขัง-นอนคุก

 

ดร.จุฬาฯ คอตกนอนคุกไร้คนมาประกันตัว คดีตุ๋นเพื่อนอาจารย์ลงทุนลอตเตอรี่ แฉเอาเงินเหยื่อไปลงทุนใน บริษัทอสังหาฯ ที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษาแต่เจ๊ง ไม่เป็นท่าจนไม่มีเงินจ่ายคืน อีกคดี 200 เหยื่อแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนาเพื่อการลงทุนแห่ร้องดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ หลังมีผู้หลงเชื่อ ทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นราย วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท แฉลวงเหยื่อซื้อแพ็กเกจราคาต่างๆ ให้ผลประโยชน์ร้อยละ 30 ต่อเดือน หากแนะนำสมาชิกเพิ่มได้อีกร้อยละ 5 แต่จ่ายเงินปันผลให้ไม่กี่เดือนก็หายเงียบ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 พ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิชกุล ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำผู้เสียหายจากการลงทุนกับบริษัท เดอะซิสเตม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จำกัด (ทีเอสพีพี) และบริษัท อินโนวิชั่น โฮลดิ้ง จำกัด เกือบ 200 คน ที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อแพ็กเกจคอร์สสัมมนาเพื่อการเรียนรู้และการลงทุน ซึ่งมีผู้เสียหายรวม 40,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท เข้ายื่นคำร้องขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยมีร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคุ้มครองผู้บริโภคและ สิ่งแวดล้อม ดีเอสไอรับเรื่องไว้

นายสามารถกล่าวว่า บริษัท เดอะซิสเตมฯ และบริษัท อินโนวิชั่นฯ มีนายภูดิศ กิตติธราดิลก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทั้งสองบริษัท เป็นผู้ชักชวนประชาชนให้ลงทุน โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ในอัตราร้อยละ 30 ต่อเดือน แผนการตลาดจะให้ประชาชนสมัครสมาชิกบริษัทในรูปแบบแพ็กเกจต่างๆ 5 แพ็กเกจ ประกอบด้วย แพ็กเกจวีไอพี ราคา 108,000 บาท แพ็กเกจพรีเมียมราคา 36,000 บาท แพ็กเกจสแตนดาร์ด 18,000 บาท แพ็กเกจมินิ 9,000 บาท แพ็กเกจไมโคร ราคา 4,500 บาท แต่ไม่มีสินค้าและแหล่งที่มาของเงิน หลังจ่ายเงินซื้อแพ็กเกจแล้ว 30 วันจะจ่ายเงินปันผลให้ตามสัญญาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจะจ่ายให้ทุกสัปดาห์ อัตราร้อยละ 7

นอกจากนี้ นายภูดิศยังโฆษณาว่า หากชักชวนคนอื่นมาร่วมซื้อแพ็กเกจด้วยจะได้รับค่าแนะนำร้อยละ 5 และได้รับค่าแนะนำเพิ่มมากขึ้นตามลำดับตามอัตราที่ชักชวนมาได้มาก ทำให้ประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก เนื่องจากการลงทุนในระยะแรกมีสมาชิกรับผลกำไรตามที่บริษัทโฆษณาจริง นายภูดิศยังให้สมาชิกซื้อคอร์สสัมมนา เพื่อมีสิทธิ์เป็น ผู้ถือใบหุ้นบุริมสิทธิสร้างความมั่นใจเพิ่มเป็น 2 เท่า ด้วยการให้ซื้อแพ็กเกจเหมือนเดิมและจะจ่ายเงินปันผลทุก 7 วัน ตลอด 1 ปี อ้างว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนประมาณ 4 หมื่นคน ทั่วประเทศ มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กระทั่งเดือน ก.ค. 2559 บริษัทประกาศหยุดจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิก

ด้าน นางกัญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า รู้จักบริษัทดังกล่าวจากการชักชวนของเพื่อน จึงมาปรึกษากับทางบ้าน แต่ทางบ้านไม่เชื่อว่าจะได้เงินตอบแทนจริง กระทั่งตนได้ไปร่วมฟังสัมภาษณ์นายภูดิศที่มีด๊อกเตอร์ท่านหนึ่งจัดขึ้น โดยนายภูดิศอ้างว่าเป็นหมอและมีแนวคิดจะทำบริษัทเพื่อช่วยเหลือประเทศ

ประกอบกับเพื่อนที่ชักชวนได้รับเงินปันผลจริง ทำให้เกิดความเชื่อถือและร่วมลงทุนในระยะแรก 2 แสนบาท เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ได้รับเงินปันผลคืน 7,500 บาท จึงลงทุนเพิ่มเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท และลงทุนต่อเนื่องจนยอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5 ล้านบาท จนเดือน พ.ค. 2559 ทางบริษัทแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยปันผลลดลงเป็นระยะ และต้นเดือนก.ค. 2559 บริษัทแจ้งหยุดจ่ายเงินปันผล เมื่อสอบถามไปกลับเงียบหาย ส่วนตัวแล้วได้รับเงินปันผลคืนแล้วประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ยังได้รับความเสียหายจากการร่วมลงทุนกว่า 3 ล้านบาท

ขณะที่ ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า เบื้องต้นดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยคดีมีมูลความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ แต่อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนพฤติการณ์การกระทำความผิด มูลค่าความเสียหาย และความซับซ้อนของคดี หากดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษในการสอบสวนจะพิจารณาตั้งแต่การเข้าร่วมลงทุนเพื่อแยกผู้เสียหายและแม่ข่าย เนื่องจากแม่ข่ายมักจะอ้างว่าเป็นผู้เสียหายด้วย ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนโดยไม่มีสินค้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับบริษัทด้วย

ส่วนที่บก.ป. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พร้อมพล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผบก.ป. และเจ้าหน้าที่ปปง. ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา เลขที่ 989/2560 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2560 ในฐานความความผิด ข้อหาฉ้อโกงประชาชน

รศ.ดร.สวัสดิ์ถูกสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จำนวนมาก แจ้งความดำเนิน คดี เนื่องจากหลอกลวงเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ให้นำเงินมาร่วมลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ อ้างว่าจ่ายเงินปันผลร้อยละ 1 ต่อเดือน รวมมูลความเสียหายกว่า 541 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่จับกุม น.ส.เมธวัชร์ หรือพชกร คนมั่น อายุ 32 ปี ทอมบอย ผู้รับโอนเงินไปจาก รศ.ดร.สวัสดิ์ ในความผิดฐานฟอกเงิน น.ส.ภวิษย์พร ใบเกตุ อายุ 28 ปี หญิงสาวคนสนิทที่ได้รับโอนเงินไปกว่า 42 ล้านบาท และน.ส.จิรัชญา คุณยศยิ่ง อายุ 32 ปี เพื่อน ของน.ส.ภวิษย์พรในความผิดตาม พ.ร.บ. ฟอกเงิน กระทั่งรศ.ดร.สวัสดิ์แอบเข้ามามอบตัวที่บก.ป. เมื่อกลางดึกวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.ท.ฐิติราชกล่าวว่า เบื้องต้นรศ.ดร.สวัสดิ์รับสารภาพว่า หลอกให้เพื่อนอาจารย์มาร่วมลงทุน แต่ไม่มีการลงทุนจริงตามที่กล่าวอ้าง ส่วนเงินที่อ้างว่าได้นำไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น จากการตรวจสอบไม่พบว่าถูกนำไปลงทุนแต่อย่างใด จึงฝากเตือนถึงประชาชนให้ตรวจสอบก่อนร่วมลงทุนทุกครั้ง เนื่องจากอาจถูกฉ้อโกงในลักษณะเดียวกันนี้ได้อีก โดยพนักงานสอบสวนประสานเจ้าหน้าที่ปปง. ร่วมตรวจสอบทรัพย์สินหาที่มาทรัพย์สินของผู้ต้องหาทั้งหมดว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งตัวผู้ต้องหายอมรับและสำนึกผิดที่หลอกลวงอาจารย์หลายท่าน ภายหลังจากสอบปากคำแล้วจะตัวฝากขังที่ศาลอาญาต่อไป

ด้านรศ.ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดในการลงทุน สำหรับสาเหตุที่ต้องหลอกเงินผู้เสียหาย เนื่องจากว่าตนไปร่วมลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเอสเอ็มอีในเชิงขายตรง แต่ไม่ได้เงินปันผลตามที่ตั้งไว้ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวตามมา ส่วนเรื่องการชดใช้เงินต่อผู้เสียหาย อาจไม่สามารถนำมาคืนให้ได้ทั้งหมด ซึ่งจนถึงขณะนี้พอจะมีทรัพย์สินบางส่วนและหุ้นที่ถือครองในบริษัทต่างๆ จะขายทรัพย์สินทั้งหมดนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหาย แต่คาดว่ายังมีเหลืออยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 50-80 ล้านบาท

รศ.ดร.สวัสดิ์กล่าวอีกว่า กรณีข่าวที่ว่าโอนเงินไปให้สาวทอมคนสนิท 62 ล้านบาท เพื่อเล่นการพนันออนไลน์นั้นไม่เป็นความจริง เพียงให้ยืมไปทำธุรกิจขายตรงแล้วขาดทุน สาวทอมรายดังกล่าวอ้างว่าจะขายที่ดินเพื่อนำเงินมาคืนให้ สุดท้ายไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ขอปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งตามที่เป็นข่าวด้วย สุดท้ายอยากจะขอโทษอาจารย์และผู้เสียหายทุกท่านเป็นอย่างมาก แม้ว่าอาจจะหาเงินมาคืนให้ได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะพยายามให้ข้อมูลตำรวจเพื่อนำเอามาคืนให้ได้มากที่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เริ่มจากก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สวัสดิ์หลังจากเกษียณราชการแล้ว ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ต่อมาบริษัทที่รศ.ดร.สวัสดิ์ไปเป็นที่ปรึกษาเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นทำให้เห็นช่องทางร่วมทำธุรกิจ จึงนำเงินไปลงทุนด้วย แต่ปรากฏว่าผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาด จึงต้องระดมเงินมาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องสร้างเรื่องจัดตั้งสหกรณ์ลอตเตอรี่ เพื่อระดมทุน ประกอบกับในระยะหลังทางรศ.ดร.สวัสดิ์ชอบไปเล่นการพนันตามบ่อนต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน และเสียพนันไปเป็นจำนวนมาก สุดท้ายหมุนเงินไม่ทันจนถูก ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีในที่สุด

ต่อมาเวลา 15.10 น. พนักงานสอบสวนบก.ป. คุมตัวรศ.ดร.สวัสดิ์ส่งฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-20 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลบหนียากแก่การจับกุมตัวมาดำเนินคดีภายหลัง ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาในช่วงเย็นปรากฏว่า ไม่มีญาติผู้ต้องหามายื่นขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงคุมตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

ขอขอบคุณแหล่งข่าว จากข่าวสด  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_341441

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *