วันที่ 2 พ.ค.60-เวลา 15.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน เดินทางมารายงานตัวต่อนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย หลังจากเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้นายสืบศักดิ์มาช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย ในระหว่างการสอบสวนคดีซื้อบริการทางเพศกับเยาวชนที่ จ.แม่ฮ่องสอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายสืบศักดิ์เดินทางถึงกระทรวงมหาดไทย นายสืบศักดิ์ได้เข้ารายงานตัวต่อนายกฤษฎาทันที โดยมีนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมหารือ
จากนั้นนายสืบศักดิ์กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวกับนายกฤษฎาว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ตนทำแผนพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ ส่วนเรื่องคำสั่งย้ายนั้น ตนได้ระบุกับปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า “ผมยอมเจ็บปวดเพื่อให้ระบบอยู่ได้” ซึ่งการที่ตนออกมาจากพื้นที่จะทำให้เกิดอิสระในการสอบสวน และตนก็ยินดีที่จะออกมาเพื่อให้ทุกอย่างอิสระ เกิดความโปร่งใส
“ยืนยัน ไม่เคยประพฤติชั่วเช่นนั้น ขณะนี้กระบวนการตรวจสอบของกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่เสร็จสิ้น หรือมีข้อสรุปว่าผมทำผิด”นายสืบศักดิ์กล่าวและว่า ต่อจากนี้จะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชนอีก เพราะได้พูดไปหมดแล้ว และตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน ขอให้สื่อมวลชนไปหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ต้องโทรศัพท์มาหาตนอีก จากนี้ไปตนจะปฏิบัติงานตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
“ไม่ว่าผลสอบจะออกมาอย่างไรก็พร้อมยอมรับทุกอย่างเสมอ ความจริงก็คือความจริง ขอให้ความจริงได้ปรากฏก่อนแล้วค่อยบอกว่าใครถูกใครผิด ตอนนี้ขอให้สื่อมวลชนไปหาความจริงก่อน ผมยอมเจ็บปวดเพื่อให้สังคมอยู่ได้ ซึ่งนี่จะเป็นบทเรียนของสังคมที่จะเรียนรู้ต่อไป” นายสืบศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ได้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ว่าฯได้อย่างไร นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องข้อสังเกตอยากให้สื่อมวลชนไปหาข้อสังเกตเอาเองว่า ทำไมจึงเกิดขึ้น ตนอยากถามสื่อมวลชนกลับว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะสื่อมวลชนเป็นคนพุ่งเป้ามาที่ตน
ขณะที่นายกฤษฎา กล่าวว่า การสอบสวนนายสืบศักดิ์ดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะมีผู้เสียหาย หรือผู้รู้เห็นบางรายไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ขณะนี้นายประยูรกำลังประสานกับหน่วยราชการที่ดูแลบุคคลเหล่านี้อยู่ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สอบสวนนายสืบศักดิ์เบื้องต้นไม่มีความผิดนั้น สื่อมวลชนช่วยลงให้ใหม่ด้วย เพราะไม่ทราบว่า สื่อที่ไปลงข่าวนี้ ได้แหล่งข่าวหรือไปเห็นสำนวนสอบสวนอย่างไร ยืนยันว่า การสอบสวนยังไม่จบ
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า นายประยูรได้รายงานตนในเบื้องต้นว่า จากการลงพื้นที่ไปสอบสวน ยังไม่สามารถสรุปเป็นข้อเท็จจริงได้ จึงขออนุญาตจากตนไปสอบสวนผู้ที่อ้างว่า เป็นผู้เสียหายที่อยู่ในการดูแลของส่วนราชการบางแห่งในกรุงเทพฯ
เพราะฉะนั้นนายประยูร ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ ก็จะมีหนังสือไปถึงหน่วยราชการเหล่านั้น เพื่อขออนุญาตเข้าไปสอบปากคำ ยืนยันว่า ขั้นตอนเหล่านี้ยังอยู่ภายในกรอบที่กำหนดคือ 30 วัน
แต่สื่อบอกว่า จะครบ 7 วันแล้วยังไม่ได้ผลสรุปจะมีปัญหาหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่มีปัญหา การที่ให้ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนมาประจำกระทรวงมหาดไทย หากยังให้อยู่ในพื้นที่ต่อไป ไม่ว่า ผลการสอบสอบสวนจะออกมาผิดหรือไม่ สังคมสาธารณชนก็จะไม่ยอมรับ ก็อยากให้สิ้นข้อสงสัย สิ้นข้อกังขา เลยดำเนินการเป็นการชั่วคราว
เมื่อถามว่า การโยกย้ายผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนมาประจำที่กระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ เป็นการลดแรงกดดันด้วยหรือไม่ นายกฤษฎา กล่าวว่า เหตุผลคือการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ถ้ายังอยู่ในพื้นที่ หลายฝ่ายอาจจะไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว หน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวก็สามารถลงไปตรวจสอบได้อย่างสบายใจ มีความรวดเร็ว เพื่อให้ความจริงปรากฏ คิดว่าภายใน 30 วันน่าจะได้ข้อสรุป
ส่วน นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญเด็กและเยาวชน นำกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และสตรี กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีค้าประเวณีเด็กที่บ้านน้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากพบว่าคดีดังกล่าวมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการปกครอง และตำรวจในพื้นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
โดย นางทิชา กล่าวว่า วันนี้มายื่นจดหมายเปิดถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมให้ช่วยเหลือและดำเนินการใน 3 เรื่องคือ 1.ขอให้มีการสืบพยานคดีดังกล่าวไว้ก่อนที่จะมีการฟ้องร้อง คือไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้องแล้วจึงสืบพยาน เพราะเกรงว่าจะสร้างความกดดันให้กับพยานซึ่งเป็นเด็ก 2.ขอให้คุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยขั้นสูงสุด 3.ขอให้ดีเอสไอ รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด
นางทิชา กล่าวอีกว่า แม้จะมีการย้ายผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนออกนอกพื้นที่แล้ว แต่ยังมีอำนาจแฝงอยู่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องรายอื่นๆยังอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นสถานการณ์ต่างๆ จึงยังไม่น่าไว้วางใจ การย้ายผู้ว่าฯครั้งนี้ จึงไม่ใช่หลักประกันให้การทำงานเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา หากผู้บังคับบัญชาไม่จัดการถอนรากถอนโคนอย่างจริงจัง ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
ด้าน นายชาญเชาวน์ ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ให้เข้าถึงประชาชน ส่วนเรื่องที่องค์กรและเครือข่ายเด็กฯมายื่นหนังสือขอ 3 เรื่องนั้น ขณะนี้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกำลังดำเนินการรับผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน ส่วนการขอให้มีการสืบพยานก่อนฟ้องนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน และตำรวจว่าจะดำเนินการได้ไหม ส่วนการที่จะให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ กำลังให้พิจารณาอยู่ หลังจากนี้จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการควบคู่กันไปด้วย
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก สนุ๊กนิวส์ http://news.sanook.com/2209198/