รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เพิ่งประกาศ ใช้ กำลังเป็นที่จับตาถึงบทบัญญัติหลักใหญ่ว่าจะส่งผลต่อการเดินหน้าประเทศไปในทิศทางใด
และขณะเดียวกัน มีกฎ กติกา หรือ ข้อปฏิบัติใดที่แปลกแตกต่างไปจากที่เคยเป็น
ที่ถูกพูดถึงเป็นประเด็นแรกๆ ในช่วง 2-3 วัน ก่อนประกาศใช้ คือวาระการอยู่ปฏิบัติ ทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กร อิสระ ซึ่งในบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ดังนี้
วาระสนช.-คสช.-สปท.-กรธ.
มาตรา 263 ให้วาระของสนช. สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยระหว่างนี้หากมีตำแหน่ง สนช.ว่างลง หัวหน้าคสช.จะแต่งตั้งทดแทนหรือไม่ก็ได้
มาตรา 264 ให้ครม. อยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่
มาตรา 265 คสช.อยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ ระหว่างนี้ คสช.ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของคสช.ยังมีผลบังคับต่อไป
มาตรา 266 สปท. อยู่ทำหน้าที่จนกว่ากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูป ตามมาตรา 259 แล้วเสร็จ ภายใน 120 วัน เบื้องต้นรัฐบาลยืนยันกฎหมายนี้ใกล้เสร็จ สปท.จึงอาจอยู่ไม่ถึงกำหนด 120 วัน
แต่อาจมี สปท.บางส่วนเมื่อหมดวาระแล้วได้รับแต่งตั้งให้ทำงานปฏิรูป แต่ไม่ใช่รูปแบบของสภา
เนื่องจากมาตราเดียวกันนี้ระบุให้ หัวหน้าคสช.ปรับโครงสร้างหรือวิธีการทำงานของสปท. เพื่อประโยชน์ ต่อการปฏิรูปได้
ส่วนวาระของกรธ. มาตรา 267 ให้อยู่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.
2.พ.ร.บ.การได้มา ซึ่ง ส.ว.
3.พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
4.พ.ร.บ.พรรคการเมือง
5.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
6.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
7.พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน
8.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
9.พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน
10.พ.ร.บ.กรรมการสิทธิมนุษยชน
จากนั้นให้ส่งสนช.พิจารณาภายใน 60 วัน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือศาลรัฐธรรมนูญหรือกรธ. เห็นว่า สนช.แก้ไขเกินหลักการของรัฐธรรมนูญให้ตั้งกมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาภายใน 25 วัน ก่อนให้สนช.ลงมติอีกครั้ง
หากสนช.มีมติ 2 ใน 3 ให้พ.ร.บ.นั้นตกไป ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าให้ทำอย่างไรหากถูกตีตก แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ชี้แจงว่า กรธ.จะเป็นผู้ร่างแล้วส่งไปใหม่
การทำกฎหมายลูกทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ก่อนที่กรธ.จะพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันพ้นจากตำแหน่งของสนช.
แล้วห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับจากพ้นตำแหน่ง
กำหนดเกณฑ์ชิงส.ส.-นั่งเก้าอี้ส.ว.
จึงแน่นอนว่า กรธ.นั้นต้องเว้นวรรคก่อน 2 ปี ถึงจะโดดลงสู่สนามการเมืองได้ ต่างจาก สนช. ครม. คสช. สปท. ที่มาตรา 263, 264, 265, 266 ข้างต้นเปิดช่องว่าหากต้องการลงสมัครส.ส. ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้
หรือหากได้รับเลือกเป็นส.ว.ก็ได้เช่นกัน และไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ให้ส.ว.วาระแรกเริ่ม มีจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกของคสช.ทั้งหมด โดยมาตรา 269 ระบุวาระแรกเริ่ม ให้มี ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. 3 ทางคือ
1. คสช.แต่งตั้ง 194 คน จากบัญชี 400 คน ที่คณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคสช. คัดเลือก
2. คสช.แต่งตั้ง 50 คน จากบัญชี 200 คน ที่กกต.ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ แบบเลือกไขว้
และ 3. คสช.แต่งตั้ง 6 คน ตามตำแหน่งคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และผบ.ตร.
การแต่งตั้งส.ว.ทั้งหมดต้องแล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน โดย ส.ว.ชุดนี้มีวาระ 5 ปี
เข้มองค์กรอิสระ-ป.ป.ช.ส่อหลุดอื้อ
ในส่วนขององค์กรอิสระ แม้มาตรา 273 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระอยู่ในตำแหน่งต่อจนกว่ากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานจะมีผลบังคับใช้ แต่ได้กำหนดหลักเกณฑ์
คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระใหม่ ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และป.ป.ช. เข้าข่ายมีปัญหาขาดคุณสมบัติตามมา
โดยระบุคุณสมบัติ-ข้อห้ามไว้ละเอียดยิบในหลายมาตราที่เกี่ยวเนื่อง หลักๆ คือ ห้ามดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นใด เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองก่อนรับการสรรหา
ผู้ได้รับการสรรหาต้องมีคุณสมบัติ ต้องเป็นศาสตราจารย์ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับเสนอชื่อ
โดยในส่วนของกรรมการป.ป.ช. อาจต้องหลุดจากตำแหน่งมากถึง 7 จาก 9 คน
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน เพราะเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 202 (4 ) ที่บัญญัติว่า เคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
นายปรีชา เลิศกมลมาศ ได้รับเสนอชื่อเป็นป.ป.ช. ปี 2553 ก่อนหน้านั้นปี 2552 เป็น เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ แต่ไม่ถึง 5 ปี น่าจะขัด 232 (2 ) ที่ระบุว่า รับราชการหรือเคยรับราชการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2553 เทียบเท่าอธิบดี ปี 2555 ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เข้าเกณฑ์ 5 ปีเช่นกัน เช่นเดียวกับ นายณรงค์ รัฐอมฤต ที่เป็น เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการในปี 2555 และได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2556 และ
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อ 1 ต.ค. 2552 ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. 9 เม.ย. 2557
รวมทั้ง พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็น ผอ.สำนัก งบประมาณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเมื่อปี 2554 แต่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นป.ป.ช. เมื่อปี 2558
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 เข้าลักษณะต้องห้ามคนที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามมาตรา 216 (3) และมาตรา 202 (1)
2กกต.-4ตุลาการลุ้นกก.สรรหาชี้ขาด
สำหรับกกต. อยู่ในข่ายมีปัญหาเบื้องต้นคือ นายประวิช รัตนเพียร เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วงต.ค. 2554-2556 เข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ขณะเดียวกันเคยดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ ปี 2548-2549 นับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.ก.ย. 2556 พ้นจากข้าราชการการเมือง มาเพียง 7 ปี ไม่ถึง 10 ปี
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นรองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2548 เจ้าตัวอ้างเคยทำงานตรวจสอบการเลือกตั้งองค์กรกลาง 24 ปี เป็นคุณสมบัติตาม มาตรา 222 วรรคท้ายของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ต้องเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งต้องรอกรรมการสรรหาวินิจฉัยเช่นกัน
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โฟกัสไปที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นหรือไม่ จึงต้องรอฟังดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหา วินิจฉัย
นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี ขณะเข้ารับการสรรหา อาจมีลักษณะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 200 (3) และ (4)
นายปัญญา อุดชาชน ไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ปรึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาจอยู่ในข่ายขัดมาตรา 200 (4)
ทั้งนี้ ตามมาตรา 200 วรรคท้ายบัญญัติการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการ กรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงคณะกรรมการสรรหาจะประกาศ ลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงก็ได้แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีไม่ได้
ข้อปฏิบัติที่แตกต่างจากเดิม
ส่วนประเด็นข้อปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม คือการกำหนดให้แต่ละหน่วยงานร่างกฎหมาย หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดโทษถึงขั้นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 58 ประกอบมาตรา 278 ให้ครม.จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐที่อาจกระทบต่อทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ต้องทำการศึกษาและประเมิน โดยรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนดำเนินการ หากเกี่ยวข้องกับหลาย หน่วยงาน ให้ครม.กำหนดเวลาแต่ละหน่วยงานดำเนินการ ถ้าทำไม่ทัน ครม. สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่งแต่ต้องไม่เกิน 240 วัน นับจากรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ เพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาภายใน 60 วัน นับจากได้รับ
มาตรา 62 ประกอบมาตรา 278 ให้ครม.จัดทำกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรอบดำเนินการทางการคลัง งบประมาณรัฐ กำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่าย เงินนอกงบประมาณ การบริหารเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ หากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ให้ครม.กำหนดเวลาแต่ละหน่วยงานดำเนินการ ถ้าทำไม่ทัน ครม. สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องไม่เกิน 240 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้
มาตรา 63 ประกอบมาตรา 278 ให้ครม.จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับ มาตรการและกลไกการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่งเสริมให้ประชาชน ต่อต้านชี้เบาะแส โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐ หากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ให้ครม.กำหนดเวลาแต่ละหน่วยงานดำเนินการ
ถ้าทำไม่ทัน ครม. สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องไม่เกิน 240 วัน
ปรับอำนาจ-หน้าที่ตำรวจ
มาตรา 258 การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับมาตรา 260 ให้ครม. แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาศึกษาการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และภารกิจ ของตำรวจ ประกอบด้วย
1.ผู้ทรงวุฒิ ซึ่งไม่เคยเป็นตำรวจ เป็นประธาน 2.ผู้เป็นหรือเคยเป็นตำรวจ โดยต้องมีผบ.ตร.รวมอยู่ด้วยให้ครม.เป็นคนกำหนดจำนวน 3.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ไม่เคยเป็นตำรวจ จำนวนเท่าครม.กำหนดในข้อ (2.) 4.ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอสส. เป็นกรรมการ
เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม ตลอดจนการบริหารงานบุคคล ให้มีความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ที่คำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความรู้ความสามารถประกอบกัน ต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปีนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้
ถ้าไม่ทัน ให้การโยกย้ายตำรวจ เป็นไปตามหลักอาวุโสที่ ครม.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
รื้อระบบอัยการ-ตุลาการ
มาตรา 196 ประกอบมาตรา 277 ให้ครม.เสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ ไม่เกิน 2 คน เพื่อให้สนช.พิจารณาภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้
มาตรา 198 ประกอบมาตรา 277 ให้ครม.เสนอแก้กฎหมาย ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองเป็นประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการ ไม่เกิน 2 คน เพื่อให้สนช.พิจารณาภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้
มาตรา 248 วรรคสาม ประกอบมาตรา 277 ให้ครม.เสนอแก้กฎหมาย ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการอัยการ ประกอบด้วย ประธานต้องไม่เป็นอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีบุคคลที่ไม่ใช่อัยการอย่างน้อย 2 คน เพื่อให้สนช.พิจารณาภายใน 1 ปี โดยระหว่างที่ยังไม่ได้นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ห้ามอัยการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัท หรือเป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง
มาตรา 258 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านการศึกษา ประกอบมาตรา 261 ให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ภายใน 60 วันนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะร่างกฎหมายการจัดตั้งกองทุนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และรายงานข้อเสนอแนะในการสร้างกลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาภายใน 2 ปี ที่ได้รับแต่งตั้ง
มาตรา 276 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ หากไม่เสร็จให้ตุลาการและกรรมการองค์การอิสระพ้นจากตำแหน่ง
ขณะที่ มาตรา 279 บรรดาประกาศ คำสั่ง และบรรดาการกระทำของคสช.ที่ใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ หรือที่จะออกใหม่ตามมาตรา 265 ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลบังคับใช้ในทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายรวมถึงที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขด้วย
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_287323