พลิกปูมซับซ้อน สังหารโหด’ทูตรัสเซีย’

ทูตรัสเซีย

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันกำหนดเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย “รัสเซีย ในสายตาของชาวเติร์ก” ที่ หอศิลปะร่วมสมัยแห่งอังการา ในกรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศตุรกี ประธานในพิธีคือ อันเดร จี. คาร์ลอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี

นี่คือวันที่ เมลุท มาร์ท อัลตินตาส รอคอย ตำรวจหนุ่มวัย 22 ปีที่อยู่ระหว่าง “พักงาน” เพราะปัญหาด้าน “สุขภาพ” ลุกขึ้นสวมสูท ผูกเนคไท โกนหนวดเคราเรียบร้อยมุ่งหน้าสู่หอศิลป์ดังกล่าว เขาอาศัยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปราบจลาจลในการผ่านด่านตรวจอาวุธบริเวณทางเข้า แม้ว่าจะทำให้อุปกรณ์ตรวจสอบโลหะดังขึ้นก็ตาม

อีกไม่กี่นาทีต่อมา อัลตินตาส ไปปรากฏอยู่ด้านหลังของทูตรัสเซีย แล้วลงมือก่อเหตุที่ไม่มีใครคาดฝัน ชักอาวุธประจำตัวขึ้นมายิงเข้าใส่เอกอัครราชทูตคาร์ลอฟ อย่างน้อย 7 นัด 4 นัดเป็นการยิงใส่ด้านหลังของทูตรัสเซีย และยิงซ้ำอย่างเลือดเย็นใส่ร่างที่นอนหงายนิ่งไร้สติ อีก 3 นัดซ้อน

อันเดร คาร์ลอฟ ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลกูเวนในเมืองหลวงของตุรกีในเวลาต่อมา

อัลตินตาสใช้อาวุธปืนในมือลั่นกระสุนขึ้นเหนือศีรษะอีกจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางความโกลาหลหลบหนีเอาชีวิตรอดของทุกคนในงาน เขาตะโกนอ้างอิงข้อความว่าด้วยการกระทำญิฮาดจากคัมภีร์อัลกุรอ่าน เปล่งวลีสรรเสริญพระเจ้าด้วยภาษาอารบิก จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ภาษาตุรกีที่ถนัดกว่า “อย่าลืมอเลปโป! อย่าลืมซีเรีย! ถอยไป ถอยไป ความตายเท่านั้นถึงจะเอาผมจากตรงนี้ได้” และหลังจากปฏิเสธคำขอเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้วางอาวุธ เขาย้ำอีกครั้งว่า “เรียกตำรวจเลย ผมจะตายที่นี่”

รายละเอียดของการกระทำและคำกล่าวทั้งหมดของมือปืน ซึ่งกล้องโทรทัศน์บันทึกไว้โดยละเอียด ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประเมินได้ไม่ยากว่า ถ้าหากไม่ใช่สมาชิก ก็ต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นอกเห็นใจพร้อมที่จะทำตัวเป็นแนวร่วมของคน 3 กลุ่ม หนึ่งคือ อัลนุสรา กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นเครือข่ายแขนขาของอัลเคดา หรืออัลกออิดะห์ ในซีเรีย, หนึ่งคือ กองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส ที่มีอิทธิพลอยู่ในซีเรีย กับสุดท้ายก็คือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการปรับเปลี่ยนนโยบายของทางการตุรกีในซีเรีย

การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบความเกี่ยวพันในระดับที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกทั้งของ อัลเคดาและไอเอส ดังนั้นจึงไม่ยากที่จะสรุปว่า อัลตินตาสคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ต่อต้านนโยบายใหม่ของรัฐบาลตุรกีในซีเรีย

ที่ซับซ้อนกว่ามากคือการหาคำตอบว่า ทำไมทูตรัสเซียถึงตกเป็นเป้าสังหาร และทำไมถึงต้องไม่ลืมอเลปโป

นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน รัฐบาลของ เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ประกาศตัวยืนอยู่ข้างกลุ่มกบฏ ให้การสนับสนุนเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อให้กลุ่มกบฏดังกล่าวสามารถโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรียลงให้จงได้

ในทางตรงกันข้าม รัสเซียให้การสนับสนุนอัล อัสซาด และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประธานาธิบดีผู้นี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องของประเทศต่อไป แม้จะหมายถึงการส่งทหารเข้าไปเพื่อทำหน้าที่รบแทนที่กองทัพของอัสซาดที่อ่อนแรงและไร้ขวัญกำลังใจเต็มทีก็ตาม

รัสเซียส่งกองทัพเข้าไปช่วยอัสซาดรบกับทั้งกลุ่มกบฏและกลุ่มไอเอสในราวปลายปี 2015 แล้วไม่นานก็ทำให้สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียกับตุรกีตกลงสู่ระดับต่ำสุด เมื่อเครื่องบินรบกองทัพอากาศตุรกี สอยเครื่องบินรบของรัสเซียตกบริเวณใกล้กับชายแดนตุรกี ด้วยข้อหา “ล่วงล้ำน่านฟ้า”

แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในซีเรียของรัสเซีย ทำให้ตุรกีต้อง “บวกลบคูณหารทางการเมือง” ของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เสียใหม่เช่นเดียวกัน เพราะเท่ากับเป็นการการันตีกลายๆ ว่า รัฐบาลอัสซาด “ไม่มีวันแพ้” และทำให้ “ต้นทุน” ในการหนุนฝ่ายกบฏของตุรกีแพงระยับขึ้นในทันทีหากยังคงหวังผลเช่นเดิม

ยุทธศาสตร์ในซีเรียของตุรกีถูกลดระดับลงจากการโค่นล้มอัสซาด เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มกบฏเชื้อสายเคิร์ดในซีเรียเติบใหญ่แข็งแกร่งและมีอิทธิพลกับดินแดนเพิ่มมากขึ้นตามแนวชายแดนติดกับตุรกี เพราะจะส่งผลใหญ่หลวงต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคิร์ดในตุรกี

นั่นนำไปสู่การทำความตกลง “อย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่างรัสเซียกับตุรกีขึ้นมา ภายใต้ข้อตกลงนี้ ตุรกีตกลงเลิกการสนับสนุน “กลุ่มกบฏ” ที่คุกคามต่อผลประโยชน์ของรัสเซียในซีเรียทั้งหมด ในขณะที่รัสเซียจะเลิกสนับสนุนกบฏเคิร์ดในซีเรีย และเปิดทางให้ทหารตุรกีเข้าไปยึดครองแนวชายแดนโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองอัล บับ เมืองชายแดนติดกับตุรกีซึ่งอยู่ถัดมาทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเลปโป

อารอน สตีน ผู้เชี่ยวชาญตุรกีจากสถาบันวิชาการอิสระ แอตแลนติกเคาน์ซิล เรียกความตกลงนี้ว่าเป็นการ “แลก อเลปโปกับอัล บับ”

อันเป็นความตกลงที่เป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงของชาวตุรกีในค่ำวันเดียวกับวันเกิดเหตุสังหาร และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญของการเลือกเป้าสังหารครั้งนี้

จนถึงขณะนี้สงครามกลางเมืองในซีเรียมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 300,000 ราย หลายหมื่นคนในจำนวนนั้นเกิดจากศึกชิงอเลปโป

เมลุท มาร์ท อัลตินตาส ใช้การกระทำ ของตนเตือนทั้งโลกว่า อย่าลืมอเลปโป

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก  มติชนออนไลน์  http://www.matichon.co.th/news/403306

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *