นายอภิเชต สีตกะลิน กรรมการบริหาร บริษัท ซิลิคอน มอเตอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทขานรับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล พร้อมมีส่วนร่วมผลักดันทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV แรตเทิ่ล (Rayttle) เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้าพัฒนาไปสู่การทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทได้นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV แรตเทิ่ล มาแสดงในงานมหกรรมยานยนต์
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยได้ลองสัมผัส เพราะในหลายประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน มีการทำตลาดจำหน่ายรถ EV ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ปีนี้จีนได้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำตลาดรถ EV มีอัตราการเติบโตสูงและรวดเร็ว คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะมียอดขายรถ EV รวมถึง 4 แสนคัน จะทำให้มีรถประเภทนี้วิ่งอยู่บนถนนของจีนประมาณ 7 แสนคัน ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ก้าวหน้าไปมาก ทั้งในเรื่องราคาต่ำลง น้ำหนักลดลง และมีความจุเพิ่มขึ้น สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก จนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
นายอภิเชตกล่าวว่า รถแรตเทิ่ล EV เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 3 ที่นั่ง ออกแบบโดย คาร์ สตูดิโอ (Car Studio) ประเทศอิตาลี ใช้โครงสร้างเฟรมเหล็กกล้าแข็งแกร่งเป็นพิเศษ รับแรงปะทะได้เช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป โครงสร้างตัวถังน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทานด้วยวัสดุคอมโพสิท ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าใช้เทคโนโลยี EV ของกลุ่มแอคเทีย (Actia) ประเทศฝรั่งเศส ผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมรถไฟฟ้า มอเตอร์ไม่ต้องบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน มีขุมกำลังให้เลือกใช้งานหลายระดับ ให้กำลังสูงสุดตั้งแต่ 4-7.5 กิโลวัตต์ ความเร็วสูงสุดตั้งแต่ 45-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีระบบทำความเย็นติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาจากโรงงานทุกคัน แบตเตอรี่เมื่อชาร์จไฟเต็มสามารถวิ่งได้ประมาณ 120-150 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ และสภาพการจราจร
นายอภิเชตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของการเปิดตลาดรถ EV ในประเทศไทย คงต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการพอสมควร เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จะต้องเริ่มจากการเพิ่มจำนวนรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ให้แพร่หลายมากกว่านี้ และมีจุดชาร์จแบตเตอรี่ตามแหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ให้ครอบคลุมเสียก่อน รถ EV จึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เนื่องจากที่ดินในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม หรือดัดแปลงอาคารที่จอดเพื่อติดตั้งแท่นชาร์จ รองรับการเข้ามาของรถ EV ในอนาคต จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง ในต่างประเทศอาคารจอดรถรุ่นใหม่ๆ จะใช้เป็นเครื่องจอดรถ เป็นลิฟต์ยกรถขึ้นไปจอดในแนวตั้ง ช่วยประหยัดพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือเครื่องจอดรถจะมีระบบไฟฟ้ารองรับอยู่แล้ว สามารถทำเป็นที่ชาร์จไฟให้กับรถ EV ได้สะดวกและรวดเร็ว ประหยัดกว่าการลงทุนสร้างอาคาร หรือวางระบบไฟฟ้าในอาคารเดิม จะยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นอกจากนี้ โครงข่ายระบบขนส่งมวลชน รถไฟใต้ดินสายต่างๆ จะเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเสร็จครบสมบูรณ์ในปี 2565 ไลฟ์สไตล์ของผู้คนจะเปลี่ยนไป คนอยู่นอกเมืองต้องขับรถไกลๆ ฝ่าการจราจร ขึ้นทางด่วนมาทำงานในเมือง ก็จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ในระยะทางสั้นลง นำรถไปจอดที่สถานี และใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/395885