ศรัทธาเหนือกาลเวลา “พระพุทธชินราช” ชัยชนะของพระราชา

ศรัทธาเหนือกาลเวลา “พระพุทธชินราช” ชัยชนะของพระราชา

“พระพุทธชินราช” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าอันเป็นชัยชนะของพระราชา” ด้วยมูลเหตุนี้เจ้านายแต่โบราณอันทรงอยู่ในฐานะพระราชาปกครองแผ่นดิน ทรงศรัทธาเลื่อมใสเสด็จพระราชดำเนินถวายสักการะบูชาพระพุทธชินราช อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยอาณาจักรสุโขทัย

สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท รัชกาลที่ 5 ราชวงศ์พระร่วงทรงหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ในปี พ.ศ. 1900 ทรงเสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในช่วงเวลาหนึ่ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2 ปี พ.ศ. 1911-1942 ทรงสถาปนาเมืองพิษณุโลก เป็นราชธานีที่ 2 และเสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนานถึง 7 ปี

สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 3 (โอรสของพญาไสยฤาไท) ครองราชย์สมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1943-1962 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 4 ครองราชย์สมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1962-1981

สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระมหากษัตริย์ ทั้ง 8 พระองค์ ปฏิบัติบูชาต่อองค์พระพุทธชินราช กันทุกพระองค์ ในราชพงศาวดาร ปรากฏนามพระมหากษัตริย์ ที่ได้เสด็จขึ้นมานมัสการพระพุทธชินราช ถวายเครื่องสักการะเป็นพุทธบูชา

พ.ศ. 1927 สมเด็จพระราเมศวร รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ เสด็จกลับมาถึงเมืองพิษณุโลก ได้มานมัสการพระพุทธชินราช ทรงเปลื้องเครื่องต้นเป็นพุทธบูชา และมีการสมโภช 7 วัน

พ.ศ.1981 สมเด็จเจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 ได้สถาปนาโอรสองค์หนึ่งเป็นพระราเมศวร พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชด้วย พระราเมศวรได้เสวยราชย์กรุงศรีอยุธยาองค์ต่อไป ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พ.ศ. 2006 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลก ในฐานะพระราชธานี ลุถึงปี พ.ศ. 2025 ทรงเฉลิมฉลองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีมหรสพ 15 วัน ทรงพระราชนิพนธ์ มหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ์ ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทั้งพระอาราม ทั้งดัดแปลงพระมหาธาตุ ให้เป็นพระปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเรือนแก้วถวายพระพุทธชินราช ทรงเสด็จสวรรคต ณ เมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2031 เมืองพิษณุโลก จึงอยู่ในฐานะราชธานีนานถึง 25 ปี

พ.ศ. 2112-2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชา รัชกาลที่ 17 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “อันสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แลสมเด็จพระนเรศวรบรมนาถ แลสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถอิศวรบรมนาถ สามพระองค์นี้ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าจักพรรดิราชาธิราช ได้เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ทั้งสามพระองค์ได้มอบองค์อุปัฏฐากปฏิบัติพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ได้ทรงสักการะเนืองๆ มาเป็นอันมาก”

พ.ศ.2124 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัชกาลที่ 18 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในคราวยังเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จขึ้นไปช่วยราชการสงคราม ณ เมืองหงสาวดี มีชัยชนะกลับมายังเมืองพิษณุโลก ทรงเปลื้องเครื่องถวายพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ให้สมโภชมหรสพ 3 วัน หลังจากประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา ขึ้นมายังเมืองพิษณุโลก เสด็จถวายนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ทรงเปลื้องเครื่องสุวรรณอลังการขัติยาภรณ์ ถวายเป็นพุทธบูชา

พ.ศ.2134 สมเด็จพระเอกาทศรถ รัชกาลที่ 19 เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช ตรัสให้เอาทองนพคุณ เครื่องราชูปโภคมาทำเป็นทองทาสี (ทองคำเปลวเนื้อหนาอย่างดี) แล้วปิดพระพุทธชินราช ด้วยพระหัตถ์จนสำเร็จบริบูรณ์ และมีมรสพสมโภช 7 วัน นับว่าเป็นการปิดทองพระพุทธชินราชเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขององค์พระพุทธชินราช ซึ่งแต่เดิมขัดมันดังทองสัมฤทธิ์โบราณอย่างสุโขทัย

พ.ศ. 2203 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช ได้ถวายเครื่องราชสักการะเป็นพุทธบูชา มีมหรสพสมโภช 3 วัน และปี พ.ศ.2205 ได้ทรงนมัสการ พระพุทธชินราชอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. 2283 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) เสด็จขึ้นไป นมัสการพระพุทธชินราช มีมหรสพสมโภช 3 วัน ทรงทำบานประตูประดับมุก สำหรับวิหารพระพุทธชินราชปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน โปรดเกล้าฯให้ช่าง 130 คน เขียนลายประดับมุกที่บานประตู เมื่อวันจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ.2299 ลงมือประดับมุก เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 รวมระยะเวลา 5 เดือน จึงแล้วเสร็จ

สมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุท

พ.ศ.2313 พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปปราบเจ้าพระฝาง เมื่อเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลกแล้ว เสด็จมานมัสการพระพุทธชินราช ทรงเปลื้องพระภูษา ทรงสะพักออกบูชา และเมื่อเสด็จกลับจากปราบเจ้าพระฝางมาถึงเมืองพิษณุโลก โปรดให้มีการสมโภช 3 วัน ทรงตั้งข้าหลวงซึ่งมีความชอบในสงครามให้พระยายมราช เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวารีธิราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) รั้งเมืองพิษณุโลก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในราชวงศ์นี้ ตั้งแต่สมเด็จพระบรมมหาชนก (พระบรมราชนก ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ เมืองพิษณุโลกนี้ ดังแจ้งในพระปรารภ เรื่องพระพุทธชินราช ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 “พระบรมราชวงศ์นี้ สมเด็จพระปฐมบรมมหาไปยกาธิบดี เมื่อกรุงเก่าเสียแก่ข้าศึก ได้ขึ้นไปอาศัยอยู่เมืองพระพิศณุโลก แล้วได้เป็นอัครมหาเสนาบดี ของเจ้าพระพิศณุโลก ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าในเวลานั้น เมื่อเจ้าพระพิศณุโลกสิ้นชีพล่วงไปแล้ว พระองค์เสด็จอยู่อีกไม่ช้าก็สิ้นพระชนม์ในเมืองพระพิศณุโลกนั้น”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ได้เป็นจอมพยุหโยธาทัพ ไปปราบปรามประเทศใดๆ ในทิศนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงนมัสการพระปฏิมากรทั้ง 3 พระองค์นี้ทุกครั้ง แลได้ตั้งรับพม่าข้าศึก อยู่ในเมืองพิศณุโลกนั่นเองก็เป็นหลายเดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เคยตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมชนกนาถ

พ.ศ.2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ได้ทรงเสด็จขึ้นมาประทับเมืองพิษณุโลก ทรงมีพระราชศรัทธา ปิดทองพระพุทธชินราช มีดอกไม้ไฟสมโภช ทรงถวายไทยทาน แก่พระสงฆ์เจ้าถิ่นตามสมควร ประทับอยู่ 7 วัน เมื่อเถลิงสิริราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ.2409 ทรงเสด็จเมืองพิษณุโลกอีกวาระหนึ่ง ด้วยเรือที่นั่งกลไฟ ชื่ออัครราชวรเดช ทรงนมัสการพระพุทธชินราชแล้ว ทรงเปลื้องกำไลหยกจากพระกร สวมพระหัตถ์พระพุทธชินราช และบูชาด้วยบายศรีปั้นด้วยรักปิดทองสำรับหนึ่ง ปิดเงินสำรับหนึ่ง กับต้นไม้ทองเงินสักการะตามสมควร ประทับอยู่ 2 ราตรี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสสรรเสริญถึงพระพุทธชินราชไว้ ดังปรากฏในพระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ในรัชกาลที่ 5 ว่า 

“ก็แลพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา 3 พระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรลำเลิศ ประกอบด้วย พระพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่า ที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬารปรากฏมาในแผ่นดิน ที่ทรงนับถือทำสักการบูชามาหลายพระองค์”

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ครั้งทรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้บรรพชาเป็นสามเณรตามเสด็จไปด้วย มีพระราชศรัทธา ขอพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างวิหารน้อยครอบพระเหลือ (พระเสสันตปฏิมา) ซึ่งยังคงปรากฏมาถึงทุกวันนี้

พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงปิดทองพระพุทธชินราช เฉพาะที่พระพักต์ และทรงหล่อจำลองพระพุทธชินราช ไปเป็นพระประธาน ณ อุโบสถวัดเบญจมบพิตร

ในการหล่อพระพุทธชินราชจำลองครั้งนั้น ทรงมีพระราชพิธีเป็นการมโหฬารด้วยทรงพระราชศรัทธา ในพระองค์พุทธชินราชเป็นอย่างยิ่งว่างามหาที่เปรียบมิได้ ดังพระราชปรารภในเรื่องพระพุทธชินราช

“เห็นพระพุทธลักษณะ แห่งพระพุทธชินราช ว่างามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้งเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูป ซึ่งจะเป็นพระประธานทั้งในกรุงและหัวเมืองตลอดจนกระทั่งถึงเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย นครลำพูน เมืองนครลำปราง เมืองน่าน พระที่ควรเชิญลงมาได้ ก็ได้เชิญลงมามากที่เชิญลงมาไม่ได้ก็แค่ถ่ายรูปดู มีพระเจ้า4 ตื้อ พระเจ้า 6 ตื้อ พระเจ้าล้านทอง เป็นต้น ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้งามเสมอพระพุทธชินราชนั้นก็ไม่มีแล้ว ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราช ลงมาก็เห็นว่าเป็นหลัก เป็นศิริของเมืองพิษณุโลกประดิษฐานในเมืองนั้นตั้งแต่สร้างเมืองมา”

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเมืองพิษณุโลก มีการสมโภชพระพุทธชินราช ตามพระราชประเพณี ในปี พ.ศ. 2450 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เ”ที่ยวเมืองพระร่วง” ดังความตอนที่ทรงประทับพระทัยในพระพุทธชินราชความว่า

“ตั้งแต่ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธรูปมานักแล้วไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตา เท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่นั้นก็เหมาะสมหนักหนาวิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัดและองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ ไม่ต้องเข้าไปจ่อนจ่อจนเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า แลดูแต่พระนาสิกพระยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกสึกยินดีว่าไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั่น ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ ฤาจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้”

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเมืองพิษณุโลก มีการสมโภชพระพุทธชินราช ตามพระราชประเพณี ในปี พ.ศ. 2450 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ดังความตอนที่ทรงประทับพระทัยในพระพุทธชินราชความว่า

“ตั้งแต่ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธรูปมานักแล้วไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตา เท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่นั้นก็เหมาะสมหนักหนาวิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัดและองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ ไม่ต้องเข้าไปจ่อนจ่อจนเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า แลดูแต่พระนาสิกพระยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกสึกยินดีว่าไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั่น ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลก จะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ ฤาจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้”

พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมนฑลฝ่ายเหนือ ประทับที่เมืองพิษณุโลก ถวายตรานนพรัตน์ ราชวราภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลทรงคล้องที่นิ้วพระหัตถ์ พระพุทธชินราช สมเด็จพระบรมราชาชินีนาถ ถวายทรงสะพักครุยกองทองภูษามาลารับจากพระหัตถ์เชิญไปถวายสะพักแล้วทรงพระสุหร่าย ทรงจุดเทียนทองเงินเครื่องนมัสการ เป็นพุทธบูชาทั้งสองพระองค์

พ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในคราวเสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรภาคเหนือ เสด็จถึงจังหวัดพิษณุโลกได้ถวายตรานพรัตน์ราชวาราภรณ์เป็นพระพุทธบูชาแด่พระพุทธชินราช ในปี พ.ศ.2516 ซึ่งตรงกับวันพุธ ที่ 16 พฤษภาคม ศกนั้น ทรงเสด็จมาประกอบพิธีวิสาขบูชาจุดธูปเทียนนมัสการพระพุทธชินราชสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพระราชดำเนินประทักษินพระวิหารพระพุทธชินราช ถ้วน 3 รอบแล้ว เสด็จเข้าในพระวิหารพระพุทธชินราช ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมพระราชาคณะ ถวายพระธรรมเทศนาพุทธคุณกถา 1 กัณฑ์ และเสด็จมาทรงนมัสการพระพุทธชินราช พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกมากครั้ง

มิเพียงเจ้านายทุกยุคสมัย มีพระราชศรัทธาต่อองค์พระพุทธชินราช พสกนิกรชนทุกหมู่เหล่ามีความเลื่อมใส และศรัทธาอยู่เหนือกาลเวลา

ขอขอบคุณเฮียมังกร  พิษณุโลก  ( กร บ้านกร่าง รายงาน )

บก.เจี๊ยบแม่สายนิวส์ออนไลน์

อ้างแล้ว: “มณีวิสุทธิ์ พระพุทธชินราช” ที่ระลึก100 ปี ชาตกาล พระราชรัตนรังษี (ทองปลิว โสรโต)อดีตเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *