อัยการสั่งฟ้อง“ธัมมชโย-ศุภชัย”ฟอกเงิน-รับของโจร

อัยการสั่งฟ้อง“ศุภชัยอดีตปธ.สหกรณ์ยูเนี่ยน–พระธัมมชโย อดีตคณะบริหารสหกรณ์-ฆราวาสอีก 3 คน ร่วมกันฟอกเงิน-รับของโจร

          23 พ.ย. —  ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าวการสั่งคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1 , พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาที่ 2 , น.ส.ศรัญญา มานหมัด อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 3 , นางทองพิน กันล้อม อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 4 และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน , ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร

         โดย ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า หลังจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้อัยการเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะทำงานอัยการได้พิจารณาหลักฐานจากการสอบสวนและผลสอบสวนเพิ่มเติมทั้งหมด รวมถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้ว ได้มีความเห็นสั่งคดีแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. โดยมีความเห็นสั่งฟ้อง นายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์ ฯ ผู้ต้องหาที่ 1 , น.ส.ศรัญญา  ผู้ต้องหาที่ 3 , นางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยพนักงานอัยการได้นัด น.ส.ศรัญญา และนางทองพิน อดีตคณะบริหารสหกรณ์ผู้ต้องหาที่ 3-4 มารายงานตัวตามนัดเดิมเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 30 พ.ย.นี้เวลา 09.30 น. ส่วนนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 นั้นขณะนี้ถูกคุมขังในคดีอื่นอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว

         โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันคณะทำงาน ก็ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ยังไม่ได้ตัวมา และ น.ส.ศศิธร ผู้ต้องหาที่ 5 ที่ยังหลบหนี ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ด้วย ซึ่งจะแจ้งให้ดีเอสไอ ดำเนินการติดตามนำตัวผู้ต้องหาที่ 2 และที่5 มาส่งให้อัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ภายในอายุความ 15 ปี (พ.ศ.2567 ) นับแต่วันที่กระทำผิด คือเดือน ม.ค.52

         ขณะที่ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า นอกจากคดีนี้ยังมีคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น ทั้งคดีแพ่งและอาญา ที่อัยการกำลังดำเนินการ โดยคดีเกี่ยวข้องที่อัยการได้ยื่นฟ้องและสั่งคดีแล้ว ประกอบด้วย คดีอาญา 1.คดีที่พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย กับพวกรวม 12 คนต่อศาลอาญาแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค.และวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ในคดีหมายเลขดำ อ.3339/2559 และ 3734/2559 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343 มูลค่าความเสียหาย 5,612,237,157.62 บาท ซึ่งอัยการขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกงไปด้วยตามจำนวนมูลค่าความเสียหายดังกล่าว โดยขณะคดีอยู่ระหว่างการนัดตรวจพยานหลักฐาน

         2.คดีที่พนักงานอัยการ เพิ่งจะมีคำสั่งฟ้องนายศุภชัย กับพวกรวม 4 คน ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 , 265  268 , 334 , 335 มูลค่าความเสียหาย 13,000 ล้านบาทเศษ ส่วนคดีแพ่ง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ โดยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาภิเษก แล้วรวม 2 สำนวน คือ 1.คดีหมายเลขดำ ฟ.173/2559 ที่อัยการยื่นเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัยกับพวกตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 85,769,438.25 บาท ซึ่งศาลแพ่ง นัดไต่สวนในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. นอกจากนี้ในส่วนของนายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์ฯ ยังมีคดีที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 14 ปี 24 เดือน ในคดีหมายเลขแดง อ.706/2559 ที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย ฐานยักยอกทรัพย์มูลค่า 27 ล้านบาทเศษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ,353 และ354

         2. คดีหมายเลขดำ ฟ.208/2559 ที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัย กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 1,585,000,000 บาท โดยศาลแพ่งนัดไต่สวนในวันที่ 20 ก.พ.2560 เวลา 09.00 น.

         “จุดมุ่งหมายในการทำคดี ไม่ได้เพียงแค่ต้องการนำเอาคนผิดมาลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์ที่ต้องคุ้มครองดูแลผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียหายหลายคนที่เดือดร้อน อัยการได้มุ่งติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินให้ชัดเจน จึงต้องพิจารณาสำนวนให้ละเอียดรอบคอบเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้เสียหาย จึงเป็นเหตุให้การพิจารณาคดีมีความล่าช้า ” รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ระบุ

          ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่การฟอกเงินจะถือเป็นคำให้การของผู้ต้องหาหรือไม่

           นายชาติพงษ์ กล่าวว่า ส่วนหนังสือขอความเป็นธรรมนั้นเป็นการมอบอำนาจให้ทนายความมายื่นไม่ถือเป็นคำให้การหลักการของคดีอาญาจะต้องฟังความทั้งสองฝ่าย และผู้ต้องหาต้องมาให้การด้วยตนเองแต่ตอนนี้ยังไม่ได้พระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 และนางน.ส.ศศิธร ผู้ต้องหาที่ 5 มาสอบ หนังสือร้องขอความเป็นธรรมจึงเป็นเพียงการรับฟังความมา ขณะที่การมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 ไว้ก่อนก็เพราะอัยการฟังความจากพยานหลักฐานดีเอสไอและผู้กล่าวหาแล้วเห็นว่าพอฟังได้ ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวน จับกุมตัวผู้ต้องหามาสอบคำให้การและส่งให้อัยการ เมื่อมีหลักฐานและคำชี้แจงของผู้ต้องหา อัยการจะพิจารณาชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ คล้ายกับการสั่งคดีของแกนนำ กปปส.

             ผู้สื่อข่าวถามว่า จากพยานหลักฐานที่ดีเอสไอและปปง.ส่งมาในเรื่องเส้นทางการเงินของพระธัมมชโย มีการนำเงินไปฟอกในธุรกิจใดบ้าง มูลค่าเท่าใด นายชาติพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องเส้นทางการเงินนั้นเป็นเรื่องในสำนวนที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี ส่วนมูลค่าความเสียหายจากพยานหลักฐานที่อัยการได้รับมาเป็นเช็ค 27 ฉบับมูลค่า 1,400 ล้านบาท

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก  คมชัดลึก  http://www.komchadluek.net/news/regional/24993

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *