นโยบายเอเชีย ว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์”

การที่สหรัฐฯ ได้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อเอเชียหรือไม่อย่างไร

ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ มีการบ้านมากมายที่ต้องทำในช่วง 2 เดือน ก่อนเตรียมเข้าตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า

ในช่วงหาเสียง ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศไว้มาก ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์อย่างเสียๆ หายๆ โดยเฉพาะต่อประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้

แน่นอนว่า เวลาหาเสียง ทรัมป์ มีสิทธิจะพูดอะไรก็ได้ เพื่อมุ่งเอาคะแนนเสียงจากคนอเมริกัน เขาจึงเน้นโจมตีจีนต่างๆ นานาว่าขี้โกงและพยายามขโมยงานทำของคนอเมริกัน แต่ตอนนี้ ทรัมป์ อาจจะต้องหาทางเยียวยาเพื่อปรับสัมพันธ์กับจีนให้ได้ก่อน ส่วนประเทศอื่นๆจะตามมาที่หลัง

ส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญใหญ่อันดับหนึ่งของทรัมป์ เช่นกัน ซึ่งอาทิตย์หน้า นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นก็มีกำหนดเดินทางหารือด่วนกับ ทรัมป์ ที่กรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย ทรัมป์ เคยตอกย้ำว่าญี่ปุ่นต้องดูแลความมั่นคงของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับเกาหลีใต้ด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ภูมิภาคเอเชียจะมีลักษณะความร่วมมือด้านความมั่นคงในอนาคตที่แปลกออกไป

นอกจากนั้น ประเทศในเอเชียยังคงมีความกังวลถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือยังคง โดยลึกๆ ทุกประเทศเกรงว่าเกาหลีเหนืออาจจะเปิดศึกสงครามนิวเคลียร์ ในขณะที่ทั่วโลกยังสับสนและพยายามทำความเข้าใจกับผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาอยู่

ส่วนประเด็นกรอบการค้าเสรีเอเซียแฟซิฟิก (Trans Pacific Partnership) หรือทีพีพี ทรัมป์ พูดชัดว่า ไม่เอาด้วย จะยกเลิก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาจะถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ นโยบายต่ออาเซียนคงต้องปรับกันเยอะ เพราะ ทรัมป์ คงไม่ยอมรับเอานโยบายของประธานาธิบดีบารัค โอบามาทั้งชุด แม้จะมีนโยบายดีๆ มากมายให้ทำต่อ โดยเฉพาะประเด็นการติดต่อกับคนหนุ่มสาวในภูมิภาคที่มีจำนวนถึง 50,000 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายเหรียญทองของโอบามา

ไทยกับสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ทั่วๆไป อาจไม่ได้รับกระทบกระเทือนมากนัก เพราะทั้งพรรคเดโมแครตและริพับลิกันต่างก็มีนโยบายต่อไทยที่คล้ายๆกัน อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลชุดนี้ที่มีทัศนะคติที่ไม่ดีต่อไทยอาจจะถูกย้าย ทำให้มีการพิจารณาท่าทีใหม่ของสหรัฐอเมริกาต่อไทย

ส่วนประเด็นการค้าและความมั่นคง คงต้องรอดูก่อนว่าใครจะได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ และทีมงานต่างประเทศเกี่ยวกับเอเชียเป็นใครกันบ้าง โดยมีหลายประเด็นที่ยังคงมีความท้าทายอยู่

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก  สนุ๊กนิวส์  http://news.sanook.com/2100330/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *