พลิกโฉมภาคเกษตรครั้งใหญ่ !!!
กรกอ.มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมอบ”อลงกรณ์”นำทีมตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกรพร้อมเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร9กลุ่มจังหวัดแรกหวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กร.กอ.) เปิดเผยวันนี้(15ม.ค.)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2565 ผ่านการประชุมทางไกล zoom cloud meeting โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง5ภาค นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมี นายวินิต อิทธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนายพงศ์ไท ไทโยธิน ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า กรกอ.มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่โดยภาคเอกชนและให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการมีเป้าหมายประกันราคาสินค้าเกษตรสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้แนวคิดความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่และจะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของภาคเกษตรของเรา ภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.โดยการสนับสนุนของรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีพาณิชย์
“ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่ธุรกิจร่วมกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งและกรมประมงโดยกระทรวงเกษตรฯ.เริ่มทดลองโครงการประกันราคากุ้งเฟสแรกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และขณะนี้กำลังขยายผลโครงการไปกลุ่มผลไม้เศรษฐกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ด ในอดีตที่ผ่านมาภาครัฐใช้เงินงบประมาณอุดหนุนสินค้าเกษตรกว่าแสนล้านต่อปีขณะที่ผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรยังเป็นปัญหาเช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรก็ไม่มีความแน่นอน การเอาเปรียบทางการค้ากับเกษตรกรยังมีอยู่ ถ้าโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโดยภาคเอกชนสำเร็จ ต่อไปภาครัฐจะได้ใช้งบประมาณไปทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเมดอินไทนแลนด์ การพัฒนาผลิตภาพ(Productivity)ทั้งระบบ การพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม การเพิ่มทักษะ(Reskill&Upskill)บุคคลากรภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคเกษตรกร และการโปรโมทสินค้าเกษตรอาหารของไทยในต่างประเทศ
โครงการนี้ไม่ง่ายเลยแต่มีความเป็นไปได้ขึ้นกับความร่วมมือแบบหุ้นส่วนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ เราต้องช่วยกันปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่ สร้างคานงัดใหม่ๆในการอัพเกรดประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าว นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร9กลุ่มจังหวัดแรกหวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูงและ12อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(S-Curve)