|
ตำรวจพม่านั่งอยู่ในรถบรรทุกขณะออกรักษาความปลอดภัยในเมืองหม่องดอ รัฐยะไข่ โดยทางการพม่ามีแผนที่จะติดอาวุธและฝึกฝนประชาชนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ เพื่อรับมือและดูแลประชาชนจากผู้ก่อความไม่สงบ. — Associated Press/Thein Zaw. |
|
|
รอยเตอร์ – แผนของทางการพม่าที่จะติดอาวุธ และฝึกฝนประชาชนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ มีแนวโน้มที่จะทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายอยู่แล้วให้ย่ำแย่ยิ่งขึ้น คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ หน่วยงานเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน กล่าว
ทหารได้ระดมกำลังลงพื้นที่เมืองหม่องดอ ที่อยู่ตามแนวชายแดนบังกลาเทศ ในรัฐยะไข่ เพื่อตอบโต้เหตุโจมตีฐานชายแดน 3 แห่ง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย
รัฐบาลระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 400 คน เข้าโจมตีฐาน และระบุว่ามีนายทหาร 5 นาย และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ 33 คน เสียชีวิตในปฏิบัติทางทหารนับตั้งแต่นั้น
กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ปิดกั้นเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และผู้สื่อข่าวเข้าถึงพื้นที่ ขณะที่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ได้กล่าวหาว่า กองทัพกระทำการละเมิดสิทธิทั้งการสังหาร ข่มขืน และเผาบ้านเรือนของพลเรือน ซึ่งรัฐบาล และกองทัพได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
หัวหน้าตำรวจรัฐยะไข่ เปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่า กองกำลังของเขาได้เริ่มเกณฑ์ตำรวจภูธรชุดใหม่จากหมู่ประชาชนชาวยะไข่ และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมในพื้นที่
“การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ได้รับการฝึกฝน และไม่มีภาระรับผิดชอบโดยเกณฑ์มาจากชุมชนเพียงแห่งเดียวท่ามกลางความรุนแรง และความตึงเครียดทางชาติพันธุ์เป็นสูตรสำหรับความหายนะ” ผู้อำนวยการ ICJ ภูมิภาคเอเชีย ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
มิน อ่อง รัฐมนตรีในสภารัฐยะไข่ และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางอองซานซูจี ผู้นำพม่า กล่าวว่า การเกณฑ์กองกำลังจะช่วยปกป้องประชาชนจากผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีวันที่ 9 ต.ค. ขณะที่รองผู้บัญชาการตำรวจยะไข่ ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า จะไม่มีปัญหาใดๆ ต่อกองกำลังดังกล่าว เนื่องจากกองกำลังจะอยู่ภายใต้คำสั่งของตำรวจ
เฉพาะผู้ที่เป็นพลเมืองพม่าเท่านั้นที่สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมตำรวจ ตามที่เจ้าหน้าที่ระบุ ทำให้ชาวโรฮิงญา 1.1 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกณฑ์กองกำลังครั้งนี้ เนื่องจากชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองในพม่า เพราะชาวพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ในขั้นต้น ผู้สมัครที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 100 คน จะเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 16 สัปดาห์ โดยจะเริ่มต้นในเมืองสิตตเว ในเดือนนี้ และกองกำลังใหม่นี้จะได้รับอาวุธ และอุปกรณ์อื่นๆ เช่นเดียวกับตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าว
แกนนำทางการเมืองชาวยะไข่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลติดอาวุธให้ชาวพุทธเพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกเขากล่าวว่า เป็นการแข็งข้อที่ขยายตัวขึ้นในหมู่ชาวโรฮิงญา
ICJ กล่าวว่า กองกำลังดังกล่าวจะขาดการฝึกอบรม และการกำกับดูแลในการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจที่สอดคล้องต่อสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานตำรวจอาชีพ และดูเหมือนจะไม่มีกลไกความรับผิดชอบที่จะต้องมีในการรับมือต่อกรณีของการประพฤติผิด และการละเมิด พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองกำลังตำรวจมืออาชีพแทน.
. |