ก.พลังงานประกาศชัดไม่รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนโขง 4 แห่ง ระบุเงื่อนไขเจ้าของเขื่อนต้องรับผิดชอบผลกระทบข้ามพรมแดน

ก.พลังงานประกาศชัดไม่รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนโขง 4 แห่ง ระบุเงื่อนไขเจ้าของเขื่อนต้องรับผิดชอบผลกระทบข้ามพรมแดน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564  กระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือแจ้งต่อเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงว่า ยังไม่ได้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อน 4 แห่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก คือเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบางและสานะคาม และเพิ่มมาตรการหลายข้อในกระบวนซื้อขายไฟฟ้า โดยเฉพาะเงื่อนไขของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะต้องระบุในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าว่า ผู้พัฒนาโครงการต้องรับผิดชอบในการเยียวยาต่อผลกระทบในประเทศไทยทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ตามข้อกังวลของกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อสอบถามความคืบหน้าแผนการซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และคัดค้านการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 4 แห่ง คือ เขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองอยู่ในปริมาณสูงมาก แต่ที่ผ่านมากลับมีการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว และขณะนี้ลาวก็กำลังเร่งสร้างเขื่อนขึ้นอีกหลายพื้นที่ตามนโยบายแบตเตอรรี่แห่งเอเชีย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานไฟฟ้าคือกฟผ.มาโดยตลอด เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าที่สูงเกินความจำเป็นได้กลายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นและผลักเป็นภาระให้ผู้บริโภค

นางสาวเฉลิมศรี กล่าวว่า เนื้อหาในจดหมายถือเป็นสัญญาณที่ดีในกระบวนการซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการเพิ่มเงื่อนไขร่างสัญญา Tariff MOU ซื้อขายไฟฟ้าของกฟผ.ที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องรับผิดชอบและเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหญ่ในอนาคตต่อไป การป้องกันและบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐโดยตรงตามกฎหมาย การระบุเนื้อหาดังกล่าวมีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนแม่น้ำโขงจากกรณีเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพานิชย์ให้กับกฟผ. เมื่อปี 2562 เป็นต้นมา

นางสาวเฉลิมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาในจดหมายระบุถึงการที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP2018 Revision 1) เพื่อเป็นการวางแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยการจัดทำแผนดังกล่าว มีการวางแผนจะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569, 2571, 2576,2578, โดยกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นผู้พิจารณารับซื้อไฟฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าที่สอดคล้องกับแผนPDPของประเทศไทย ความสามารถของระบบส่งไฟฟ้าที่จะรองรับการไฟฟ้าและให้ความสำคัญต่อผลกระทบในมิติต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม เขตแดน รวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ก่อนที่คณะอนุกรรมการประสานงานฯ จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของสปป.ลาว โครงการที่เสนอขายไฟฟ้าจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาภายในสปป.ลาว มาอย่างถูกต้องครบถ้วน และจะต้องผ่านกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA เพื่อให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC ได้ศึกษารายละเอียดโครงการ รวมถึงจัดทำข้อตกลงเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้น จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่อไป  นอกจากนี้ ในกระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน จะมีการสอบถามความเห็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า

เนื้อหาในจดหมายยังระบุเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับภาคประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานจึงได้สั่งการให้ กฟผ.ระบุเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ดังนี้ ให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งอาจจะเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ตามข้อกังวลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และให้ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาว เลือกใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการใช้บุคลากร การจ้างงาน และการบริการจากประเทศไทย(Local Content Requirement) ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 ของทั้งโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย  และสุดท้าย คือ ปัจจุบันยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย พลวงพระบาง และสานะคามแต่อย่างใด

นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์ไทย-แม่โขง องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ถือเป็นความชัดเจนของกระทรวงพลังงานของไทยที่ฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าหลักจากเขื่อนแม่น้ำโขงหลายแห่งตามแผน การเพิ่มเงื่อนไขความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมด้านผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนไทย ถือเป็นผลเชิงประจักษ์ที่เกิดจากเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นักวิชาการและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปี ที่ได้เพิ่มเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต

นางสาวไพรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานสำรองของประเทศไทยยังสูงมากถึง 55 % และมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่มีรายได้ตลอดจากการทำสัญญาซื้อขายที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคอย่างไม่เป็น คือประเด็นสำคัญต่อเนื่องต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเชิงระบบให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศ พร้อม ๆ กับการมุ่งสู่ทางเลือกการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่เขื่อนไฟฟ้า ที่มีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและราคาถูกกว่าเดิม เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้นทุนต่ำลงไปเรื่อย ๆ  และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า  รวมถึงการกระจายอำนาจให้ผู้บริโภค อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองควบคู่ไปกับระบบหลัก อาจจะเป็นทางเลือกที่สำคัญและสอดคล้องกับแนวโน้มพลังงานโลกมากกว่า

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข่าวจาก – สำนักข่าวชายชอบ  https://transbordernews.in.th/home/?p=28411

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *