วอนเร่งรัดกระบวนการให้สัญชาติผู้เฒ่า-เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ปลูกป่าต้นน้ำ-ลูกหลานเป็นคนไทยแล้ว ยุคโควิดยิ่งลำบาก-ไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

วอนเร่งรัดกระบวนการให้สัญชาติผู้เฒ่า-เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ปลูกป่าต้นน้ำ-ลูกหลานเป็นคนไทยแล้ว ยุคโควิดยิ่งลำบาก-ไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุชาติพันธุ์อาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของกรมการปกครองแล้ว จำนวน 15 ราย และได้ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ. 2508 ระบุว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 15 รายนี้ อยู่ในกลุ่มที่มีการยื่นคำร้องเป็นกรณีศึกษาชุดแรก จำนวน 23 ราย ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหนังสือสั่งการที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรมเลิศ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ. 2508

“สำหรับความคืบหน้าในครั้งนี้ ถือว่ามาไกล นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งมีความละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ได้ทำคุณประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญาในการรักษาป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พศ. 2538 จนเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติที่สำนักทะเบียนอำเภอ  และส่งเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ในกลุ่มนี้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว  2 ราย และบางรายกำลังป่วยหนัก หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับงานแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามที่อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) กำหนดเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายหลัก จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ พัฒนากลไก บุคคลากร และทรัพยากร ของสำนักทะเบียนจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับกรม เพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ 5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ การล่าช้าหมายถึงเวลาในชีวิตที่หมดไปทุกวัน เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นบุพการีของคนสัญชาติไทย โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่ามีจำนวนผู้เฒ่าไร้สัญชาติมากถึง 77,000 กว่ารายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ฯลฯ โดยใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน  ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้  คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐและห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ

นายอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปี และนางพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

“ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี เพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรประชาชนไทย เพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินไทยมายาวนาน และจะได้นอนตายตาหลับ” พ่อเฒ่าแม่เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 40-50 ปี บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3-4 ราย

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ  https://transbordernews.in.th/home/?p=28192

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *