ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ห้ามชุมนุมทั่วประเทศ ฝ่าฝืนโทษสูง คุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ห้ามชุมนุมทั่วประเทศ ฝ่าฝืนโทษสูง คุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น

วานนี้ (3 ส.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 9) ใจความว่า

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ได้ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะมีการกลายพันธุ์ ของเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่ามีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก หากมิได้ดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง และการรวมกลุ่มของบุคคลอย่างรัดกุม มีประสิทธิภาพเพียงพอ

รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตาม ความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีมาตรการควบคุมเพิ่มเติม รวมทั้งได้ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

โดยได้ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15 ) ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

  1. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร

  1. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น ดังต่อไปนี้

(1) กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือ สถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก

(2) กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข

(3) กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์ หรือความสะดวกแก่ประชาชน

(4) การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุม โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด

(5) กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด

โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับใหม่ ให้ประกาศฉบับนี้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฉบับใหม่ดังกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *