คนไทยเฮ ! บอร์ดวัคซีนปลดล็อคปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ
คนไทยเฮ ! บอร์ดวัคซีนปรับแผนสั่งปูพรมระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ งัด 3 แนวทาง “สะดวก-ทั่วถึงทุกกลุ่ม-มีมาตรฐาน” พร้อมเปิดช่องทางให้วอล์ค-อินได้
วันที่ 12 พ.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 /2564 มีมติเห็นชอบเพิ่มการจัดหาจำนวนวัคซีน COVID-19 อีก 50 ล้านโดส เพื่อเตรียมไว้ฉีดให้กับประชากร ทำให้ไทยจะมีวัคซีน COVID-19 ในปี 2565 จำนวน 150 ล้านโดส และเร่งเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมการกลายพันธุ์ รวมทั้งปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็วที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค เริ่มได้ทันทีตามความพร้อมของแต่ละจังหวัดโดยการฉีดวัคซีนจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.นัดหมายผ่าน แอปหรือไลน์ หมอพร้อม 2.การนัดหมายเป็นกลุ่มก้อนของทางหน่วยงานเพื่อขอรับวัคซีน และ 3.รับการฉีดแบบไม่นัดหมายล่วงหน้า หรือ Walk in โดยให้จังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดเอง กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่กระจายวัคซีนตามคำขอเท่านั้น
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมไม่จำกัดแค่พื้นที่ระบาด แต่ให้ดำเนินการในทุกพื้นที่ เป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ ซึ่งจะระบุยอดเป้าหมายการฉีดแต่ละจังหวัด โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หากจังหวัดไหนพร้อมเริ่มฉีดได้ทันที
สำหรับการจัดฉีดวัคซีนแบบไม่นัดหมายล่วงหน้า จะช่วยลดอุปสรรคของคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่มีแอปพลิเคชัน หรือดำเนินการผ่านหมอพร้อมไม่ได้ และคนที่ไม่มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน โดยแบ่งสัดส่วนของการฉีดกับการนัดผ่านหมอพร้อม และโรงพยาบาลนัดหมายเป็นสัดส่วน 30-50-20 ปรับเปลี่ยนได้ตามเหมาะสม
นพ.โอภาส ย้ำว่าทุกขั้นตอนการฉีดยังต้องมีมาตรฐาน สังเกตอาการ 30 นาที และแม้จะลดขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมในตอนแรก แต่หลังฉีดเสร็จยังต้องลงทะเบียนในแอป หรือ ไลน์หมอพร้อม เพื่อกรอกข้อมูลเก็บไว้ใช้ในการติดตามผลของวัคซีน นัดหมายฉีดเข็ม 2 และใช้ในการออกใบรับรองว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชั่นหรือเข้าไลน์หมอพร้อมไม่ได้ เจ้าหน้าจะช่วยกรอกข้อมูลลงระบบต่อไป
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จัดหาวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความพิเศษและครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เมื่อติดเชื้อก็มีอาการรุนแรง โดยอาจเป็นการนัดหมายฉีดวัคซีนที่บ้านพัก เพื่อลดการเดินทาง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่จะค่อยๆ ทยอยดำเนินการ โดยวัคซีนทุกยี่ห้อมีความปลอดภัย ไม่อยากให้ประชาชนพิจารณานานว่าสมควรฉีดหรือไม่ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่า ใครมีความเหมาะสมรับวัคซีนยี่ห้อไหน ชนิดไหน เพราะบางคนอาจแพ้วัคซีนบางตัว แต่ทุก ๆ การฉีดอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ผ่านมาฉีดไปแล้ว 2 ล้านโดส ไม่พบคนเสียชีวิตหรือพิการ และขณะนี้กระจายวัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านโดส เหลืออีก 1 ล้านโดสที่อยู่ระหว่างการรอตรวจสอบเอกสารต้นทาง
ส่วนข้อกังวลผลกระทบจากการฉีด ยืนยันว่า มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา และทำงานเป็นอิสระ บางเคส ที่สงสัยก็มีการใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ผ่าชันสูตรศพพิสูจน์ ส่วนที่กังวลหาก วอล์กอินไปจะได้วัคซีนคนละตัวกับคนที่ลงทะเบียน ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ทุกการพิจารณาฉีดวัคซีนเป็นดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการจัดหาบุคลากรมาสนับสนุนในการฉีด อาจมีการระดมพยาบาลเกษียณอายุเข้ามาช่วยเหลือเพิ่ม ทำให้การฉีดวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึง การปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า หลังวันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนกาจะส่งมอบตามสัญญาที่ทำไว้กับประเทศไทยในทุกๆเดือนจนครบ 61 ล้านโดส ซึ่งนั่นหมายความว่า จะมีจำนวนวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากนี้รัฐบาลมีแนวคิดว่า จะให้ประชาชนสามารถวอล์คอินเข้าฉีดวัคซีนได้ โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคจะไปหาวิธีในการแจ้งประชาชนว่า แต่ละหน่วยจะมีโควต้าให้ประชาชนได้เท่าไร เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา
“แต่ละจังหวัดจะต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร โดยการกระจายวัคซีนจะเน้นพื้นที่ระบาดก่อนเพื่อควบคุมโรค โดยจังหวัดจะกำหนดจุดฉีดวัคซีน และแบ่งสัดส่วนวัคซีนสำหรับระบบนัดและการเดินเข้ามารับวัคซีน ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่ทุกจุดฉีดวัคซีนต้องดำเนินการตามมาตรฐาน เฝ้าระวังอาการหลังฉีด ไม่ว่าเข้ามาในรูปแบบใด เมื่อรับวัคซีนแล้วจะมีการบันทึกข้อมูลในหมอพร้อมเพื่อติดตามอาการ นัดมารับวัคซีนเข็มที่สอง และออกใบรับรองการฉีดวัคซีน” นายอนุทินกล่าว
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข่าวจาก – ข่าวบ้านเมือง https://www.banmuang.co.th/news/politic/233795