ทหารไทยผลักดันกลับผู้หนีภัยสู้รบริมสาละวินกว่า 2 พัน อ้างส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย ชาวบ้านเผยสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย-วอนขอหลบพักพิงต่อ
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรื่องขอให้ชะลอการผลักดันชาวบ้านผู้หนีภัยสงครามกลับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า โดยระบุว่าเวลานี้ ผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-พม่า ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ได้ข้ามมายังฝั่งไทย ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอพักพิงชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยในฝั่งไทย แต่ล่าสุดชาวบ้านเหล่านี้ได้ถูกทางการไทย พยายามเจรจากดดันให้กลับไป โดยอ้างเหตุผลว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังมีความกังวลและหวาดกลัว เรื่องความปลอดภัย เพราะมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้ป่วย คนพิการ แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ แจ้งกับชาวบ้านว่า “ข้างบน” สั่งมาให้กลับแล้ว หากยังอยู่ก็จะกระทบต่อไทยและกระทบต่อการค้าชายแดนและเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่เวลานี้ยังมีเครื่องบินรบของพม่าเข้ามาบินยิงทิ้งระบิดโจมตีกองกำลังกะเหรี่ยงใกล้บริเวณพรมแดนไทย-พม่า และใกล้หมู่บ้านของประชาชน
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทางการไทยต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง การข่าวที่เชื่อถือได้ และควรจะมีมาตรการผ่อนปรน ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม ควบคู่ไปกับการติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องบนหลักการความมั่นคงของชาติและหลักมนุษยธรรม” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯที่มีต่อรัฐบาลไทยและฝ่ายความมั่นคงไทย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลไทยหรือกระทรวงกลาโหม ประสานแจ้งเตือนไปยังกองทัพพม่า ให้ยุติการโจมตีทางอากาศ ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทันที กองทัพพม่าต้องยุติการโจมตีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน ทำให้ประชาชนพลเรือนต้องลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยตามชายแดนอีกด้วย
2. ขอให้ฝ่ายความมั่นคงไทย ผ่อนปรนให้ที่อาศัยพักพิงชั่วคราวแก่ผู้หนีภัยสงคราม เพื่อความปลอดภัย ตามหลักมนุษยธรรม และเปิดช่องทางในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรมเป็นการด่วน ไม่ควรประวิงเวลา เนื่องจากกลุ่มผู้หนีภัยเหล่านี้มีทั้งเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก ผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ ซึ่งมีอาการเจ็บป่วย
3. ขอให้มีมาตรการผ่อนปรนเปิดพื้นในการบริหารจัดการบูรณาการจากหลายฝ่าย ในการควบคุม ช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม และสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะอย่างถูกต้อง มากกว่าการสกัดกั้น ปิดช่องทางในการสื่อสารและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
4. ขอให้จัดที่พักพิงชั่วคราวที่เหมาะปลอดภัยแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ตามหลักมนุษยธรรม เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบาง
5 ขอให้ยุติการผลักดันกลับไปสู่ความตายหรือสู่อันตราย ซึ่งผิดจารีตระหว่างประเทศ ควรพิจารณาให้ชาวบ้านตัดสินใจกลับเอง ในห้วงเวลาที่เหมาะสม และปลอดภัย
ขณะที่ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แจกเอกสารใบแถลงข่าวประจำวันระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. เป็นต้นมา สถานการณ์การสู้รบระวห่างทหารเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย KNU ด้านตรงข้าม อ.สบเมยและ อ.แม่สะเรียง ยังคงสงบ (ไม่มีการปะทะ) โดยราษฏรชาวเมียนมาที่เดินทางข้ามมายังฝั่งไทยทางเรือซึ่งทางทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยอีนวล ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียงและพื้นที่ใกล้เคียง 4 แห่ง รวม 2,191 คน
ทั้งนี้คำแถลงของศูนย์สั่งการไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ค่อนข้างขัดแย้งกับข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ซึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เครื่องบินรบของทหารพม่าได้มาทิ้งระเบิดบริเวณรอบๆ ฐานทหารพม่าวาลูโกล ซึ่งอยู่ตรงข้าม ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ห่างจากพรมแดนไทยเพียง 1 กิโลเมตร
ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งที่กำลังถูกผลักดันกลับ เปิดเผยว่าเวลานี้เจ้าหน้าที่ทหารไทยไล่ให้พวกเขากลับแล้วโดยทหารไทยได้เดินทามาประชุมตอนเช้า (8 พฤษภาคม) ที่บริเวณอูหื่อโกล หรือห้วยอีนวล และยังขึ้นไปประชุมที่ห้วยโกลปะ โดยในการประชุมเจ้าหน้าที่ไทยบอกว่า ขอให้ชาวบ้านกลับฝั่งกะเหรี่ยงเพราะหากอยู่ต่อจะทำให้พื้นที่ชายแดนไทยดูเหมือนว่ามีการสู้รบอยู่ และส่งผลกระทบเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการค้าชายแดน
“หลังจากทหารไทยสั่งการเช่นนี้ พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะแต่ละรอบที่ต้องข้ามน้ำสาละวิน เราต้องขนข้าวของลำบากมาก แถมยังมีทั้งเด็ก คนแก่ คนป่วย คนพิการ พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไรจริงๆ แต่เวลานี้เจ้าหน้าที่ไทยบอกต้องเรากลับไปก่อน” ชาวบ้านรายนี้ กล่าว