รอยเตอร์ – อองซานซูจี ผู้นำพม่า ได้กล่าวส่งเสริมสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ โดยให้คำมั่นถึงกรอบกฎหมายที่ชัดเจน และโอกาสในภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกแตะต้องของประเทศ หลังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเมื่อสองสัปดาห์ก่อน นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศในเดือน เม.ย. ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการตั้งคณะกรรมการที่จะอนุมัติโครงการการลงทุนจากต่างชาติ การตรวจสอบอย่างละเอียดจนมากเกินไปในโครงการก่อสร้างในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และแผนเศรษฐกิจที่ยังขาดรายละเอียด จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ หลังการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้มีชาวต่างชาติลงทุนเพียง 380 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค. ลดลงจาก 2,600 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในเดือน ก.ย. เมื่อซูจี เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ซึ่งโอบามาได้ประกาศความตั้งใจที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และซูจี รับลูกอย่างรวดเร็วด้วยการผลักดันผ่านกฎหมายการลงทุนต่างชาติ และกฎระเบียบจำเป็นอื่นๆ “รัฐบาลของเราสังเกตเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า” ซูจี กล่าวในที่ประชุมร่วมกับผู้บริจาคต่างชาติ นักการทูต และนักลงทุนในกรุงเนปีดอ ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่ายังเน้นย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะบรรลุความก้าวหน้า เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจจะช่วยสร้างสถาบันประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ ในการรุกคืบทางเศรษฐกิจ ซูจี เริ่มเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ด้วยต้องการส่งเสริมพม่าในฐานะปลายทางการลงทุน ทั้งจีน ไทย สหรัฐฯ และอินเดีย และการเยือนญี่ปุ่น ที่มีกำหนดในต้นเดือน พ.ย.นี้ กอ วิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการพัฒนาพม่า ได้กล่าวในที่ประชุมในความพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ด้วยการให้คำมั่นว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมดังเช่นบริษัทท้องถิ่น และจะไม่เผชิญต่อการเวนคืนธุรกิจ หรือใบอนุญาตโดยพลการ เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ของการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้พม่ามีเพียงอุตสาหกรรมในประเทศขนาดเล็ก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร้อยละ 8 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลจากการนำเข้า “เราจำเป็นที่จะต้องผลักดันการค้าด้วยการเพิ่มการส่งออกและลดการนำเข้า และด้วยการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งการพัฒนาการผลิตภายในประเทศผ่านธุรกิจขนาดย่อม (SME)” กอ วิน กล่าว กอ วิน ยังให้คำมั่นที่จะปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ทำให้สูญเสียรายได้จากภาษี ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางมีอำนาจควบคุมเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับจีน และไทย เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ควบคุมการค้าชายแดนดังกล่าว “การค้าผิดกฎหมายพบได้มากในพม่า ปริมาณการค้าผิดกฎหมายสูงมากกว่าการค้าถูกกฎหมาย ดังนั้น เรากำลังพยายามที่จะยุติสิ่งเหล่านี้” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการพัฒนา กล่าว. แหล่งข่าวจาก MGR http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106333
|