ตำรวจชายแดนพม่ายกโลงศพที่บรรจุร่างของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากเหตุโจมตีเมื่อวันอาทิตย์ (9) มาประกอบพิธีทางศาสนาในเมืองหม่องดอ รัฐยะไข่ วันที่ 11 ต.ค. — Agence France-Presse/Khine Htoo Mrat. |
|
|
เอเอฟพี – สื่อของทางการพม่ารายงานวันนี้ (12) ว่ามีผู้เสียชีวิต 12 ราย ในการปะทะกันระหว่างกลุ่มชายติดอาวุธและกองกำลังทหารพม่า ในรัฐยะไข่ ทางภาคเหนือของประเทศ ที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทหาร 4 นาย และผู้ร้าย 1 ราย เสียชีวิตเมื่อวันอังคาร (11) เมื่อชายหลายร้อยคนพร้อมอาวุธปืนและดาบเข้าโจมตีกองกำลังทหารในหมู่บ้านปองปี เมืองหม่องดอ และเจ้าหน้าที่ทหารยังพบผู้เสียชีวิตอีก 7 ราย พร้อมกับอาวุธ หลังการต่อสู้ปะทุขึ้นในหมู่บ้านตองปายนา ที่อยู่ใกล้เคียง
“หลังเหตุการณ์ กองกำลังทหารพบศพ 7 ศพ พร้อมด้วยอาวุธดาบและไม้” หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงาน
ทหารกำลังกวาดล้างพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนติดกับบังกลาเทศ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย ถูกฆ่าเมื่อวันอาทิตย์ (9) จากการโจมตีแบบร่วมมือกันที่ฐานชายแดน 3 จุด
ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติที่กลุ่มชาวพุทธชาตินิยมมองว่าเป็นผู้อพยพเข้าประเทศผิดกฎหมาย
เหตุความไม่สงบครั้งนี้ สร้างความหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยกับเหตุความรุนแรงที่้เคยเกิดขึ้นในปี 2555 ที่ความรุนแรงทางศาสนาในรัฐยะไข่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน และยังส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่น
ผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีชายแดนทั้งหมด 6 คน รวม 4 คน ที่ถูกจับตัวได้เมื่อวันอังคาร ขณะนี้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตามการรายงานของสื่อทางการ และเจ้าหน้าที่เผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้โจมตีหรือแจงจูงใจของคนเหล่านี้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้บางคนกล่าวโทษชาวโรฮิงญา ขณะที่อีกหลายคนก็ชี้ความผิดไปที่กลุ่มชาวบังกลาเทศ
วีเจย์ นามเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการพม่าของสหประชาชาติ เรียกร้องให้กองกำลังทหารและประชาชนพยายามยับยั้งชั่งใจในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐ และยังร้องขอให้พลเรือนไม่ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการตอบโต้ไม่ว่าลักษณะใดก็ตามต่อกลุ่มศาสนาหรือชุมชนอื่น
ข่าวลือการสังหารและจับกุมตัวคนจำนวนมากทั่วเมืองหม่องดอ ได้แพร่สะพัดไปราวกับไฟลามทุ่งบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกหวาดกลัว คนในพื้นที่กล่าวว่าพวกเขารู้สึกหวาดกลัวที่จะออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง ท่ามกลางการลาดตระเวนของกองกำลังทหารตามถนนสายต่างๆ
ฝ่ายนักเคลื่อนไหวกล่าวเตือนว่า การค้นหาผู้โจมตีกำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามชาวโรฮิงญา.
. |