พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ที่
เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง รุ่นที่ 1 (2/1) ที่เรือนจำกลางเชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมถึงผู้ต้องขังซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”
ซึ่งโครงการนี้ เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ทุกเงื่อนไขของพื้นที่ และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดทั้งการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก
สำหรับเรือนจำกลางเชียงราย โดยนายสมคิด ปริมิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย นำผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ที่เป็นคนไทย จำนวน 100 คน และที่เรือนจำอำเภอเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีผู้ต้องขังผ่านการอบรมทั้งสิ้น 100 คน
โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นตอนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติประกอบด้วย การออกแบบแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริงมีขนาด 250 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม ขั้นตอนที่ การสรุปและประเมินผล
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากนี้แล้ว ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษในโอกาสต่อไปจะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
แหล่งที่มาของข่าวจาก – สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
ณฐพัชร์ อภิโชคกุล หัวหน้าสำนักข่าวเบาะแสภาคเหนือ /////// รายงาน //////////