|
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ขณะพูดคุยกับสื่อระหว่างหารือกับนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่าในทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ครั้งนั้นซูจีได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ต่อพม่า ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าพร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าว. — Reuters/Carlos Barria. |
|
|
รอยเตอร์ – ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่อพม่าอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ (7) ตามที่ให้คำมั่นต่อนางอองซานซูจี เมื่อเดือนก.ย. ด้วยการยกเลิกคำสั่งฉุกเฉิน อันเนื่องจากนโยบายของอดีตรัฐบาลเผด็จการทหารที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในหนังสือที่มีถึงสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดรัฐบัญญัติว่าด้วยภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเกี่ยวกับพม่า ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าในการส่งเสริมประชาธิปไตย รวมทั้งการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนพ.ย. 2558
คำแถลงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ผลของการยกเลิกคำสั่งฉุกเฉินคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินภายใต้การกำกับของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังการพบหารือระหว่างอองซานซูจี ผู้นำพม่าและประธานาธิบดีโอบามา ในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนก่อน ที่ซูจีได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศ และโอบามาระบุว่าเต็มใจที่จะดำเนินการดังกล่าว
หนังสือของโอบามาชี้ไปที่การก่อตั้งรัฐบาลนำโดยพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันเป็นผลของการเลือกตั้ง การปล่อยนักโทษการเมืองจำนวนมากและสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุง รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสมาคมและชุมนุมอย่างสันติ
“ขณะที่พม่าเผชิญกับความท้าทายต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมประชาธิปไตยของประเทศให้เข้มแข็ง สหรัฐฯ มีความสามารถและมุ่งมั่นที่จะใช้วิถีทางต่างๆ ในการสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนของพม่าต่อความพยายามของพวกเขาที่จะจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น” โอบามาระบุ
ซูจีได้โน้มน้าวตะวันตกให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าในช่วงที่ซูจีถูกจำคุกหลายปีในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แต่เวลานี้ซูจีพยายามที่ปรับสมดุลระหว่างการแสดงให้ประชาชนเห็นถึงสิ่งตอนแทนทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะรักษาแรงกดดันต่อบรรดานายทหารเพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปต่อเนื่อง
สมาชิกบางคนในสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับขอบเขตและความคงทนของการเปลี่ยนแปลงในพม่า ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกประณามถึงการประกาศยกเลิกคว่ำบาตรของโอบามาเมื่อเดือนก่อนว่า สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลถ่วงดุลกองทัพพม่า แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ กล่าวว่า การยกเลิกคว่ำบาตรจะไม่นำไปใช้กับความช่วยเหลือทางทหาร
ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า ข้อจำกัดจำนวนหนึ่งยังคงมีอยู่เช่นเดิม รวมทั้งการห้ามออกวีซ่าให้กับผู้นำทหาร.
แหล่งข่าวจาก MGR http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9590000101426 |