รองกวางเผย! ครม.เดินหน้าปลดล็อกกัญชาเสรี ขยายวงให้ผู้ป่วย หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย เกษตรกรที่ร่วมกับผู้ได้รับอนุญาตผลิตสมุนไพร สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีกัญชาไว้ในครอบครองได้
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่..)พ.ศ. …. ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2562 ฉบับใหม่ที่แก้ไขนี้มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือกับผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์
ทั้งนี้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชานั้น กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ขออนุญาต ที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันในกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยกำหนดให้ กรณีที่มีการยึดหรือริบยาเสพติดให้โทษ เมื่อได้มีการตรวจชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย สามารถทำลายหรือนำยาเสพติดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บรักษายาเสพติดของกลางไว้เป็นเวลานาน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่เก็บรักษา
ทั้งนี้หลังจากครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป