โดย พฤ โอ่โดเชา
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Siwakorn Odochao และ chai.pongpipat
สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงในเวลานี้ ทำให้มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงในหลายจังหวัด พูดคุยหารือ และทยอย “ปิดหมู่บ้าน” กันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นองค์ความรู้ที่สืบมาจากบรรพบุรุษในอดีตของชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกันว่า หากเกิดภัยพิบัติ เกิดโรคระบาด เมื่อชุมชนแต่ละแห่งปิดตัวเอง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะชุมชนยังคงมีความเชื่อในหลักการเคารพพึ่งพาอาศัยและฝากเนื้อฝากตัวอยู่กับธรรมชาติ ดังนั้นการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่งจึงยังคงยึดหลักความถูกต้องและตรงกับครรลองที่ธรรมชาติได้วางแนวไว้
“การปิดหมู่บ้าน” สำหรับความหมายภายในนั้นหมายถึง การกลับมาทบทวน ครุ่นคิด วิเคราะห์เหตุ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร เราได้มีวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกับครรลองของธรรมชาติอย่างไร เราได้พลั้งเผลอใช้ชีวิตล่วงละเมิดต่อธรรมชาติอย่างไร
เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนเราอาจละเลย ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง “การปิดหมู่บ้าน”หรือ “เกราะหญี” สามารถช่วยหยุดการติดต่อเคลื่อนย้ายโรคภัยไข้เจ็บ มาตรการชุมชนนี้ช่วยไม่ให้คนนอกชุมชนเข้ามา และคนในชุมชนก็ไม่ออกไปภายนอกเช่นกัน
จะสังเกตเห็นได้จากชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จะตั้งอยู่อยู่กระจัดกระจายตามหุบเขา ไม่นิยมอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกัน เหตุการณ์จากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “การปิด” มีหลายระดับ ตั้งแต่ “การปิดตัวเอง” เป็นรายบุคคล การปิดตัวเองเป็นครอบครัว ไปจนถึงการปิดทั้งชุมชน ซึ่งประกอบพิธีกรรมได้ตามที่ชุมชนนั้นๆ จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ที่ประกอบพิธีกรรมจะร่วมกับชุมชน หรือบุคคล หรือครอบครัวกำหนดขึ้น ตามจารีตที่สืบกันมา
พิธีกรรมโบราณนี้ห่างหายไปนาน เหลืออยู่น้อยเต็มที เพิ่งได้กลับมาฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด
ข้อสำคัญคือ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รู้ และสมาชิกในชุมชนร่วมกันหารือ กำหนดวันปิดวันเปิด ตามระยะเวลาได้ โดยกำหนด จะให้ใครเข้า หรือไม่ให้ใครเข้าได้ หมายถึงชุมชนนั้นยังมีกลไกที่เข้มแข็งแบบฉบับของชุมชนกะเหรี่ยงอยู่นั่นเอง อาจหมายถึงชุมชนนั้นยังมีความสามารถพึ่งตัวเองอยู่กับธรรมชาติได้ มีความมั่นคงทางด้านความรู้ อาหาร การสื่อสาร
การมีทางเลือกของตัวเอง ตามแบบครรลองของธรรมชาติที่บรรพบุรุษของตัวเองสั่งสอนไว้ และยังมีความเชื่อ ยังมีความพร้อมจะไว้วางใจในองค์ความรู้ตามบรรพบุรุษ หมายถึงชุมชนนั้น ยังควบคุมวิถีชีวิตดำเนินตามครรลองที่ฝากชีวิตไว้ในอ้อมกอดของธรรมชาตินั่นเอง
วิถีและองค์ความรู้นี้แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมต่างๆ ที่ยึดหลักใช้ชีวิตคู่กับเส้นทางที่ธรรมชาติ ยังไม่ล้าสมัยและยังสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความเป็นชุมชน ที่สามารถพูดคุยและควบคุมกันได้ ต่างจากสภาพในเมืองใหญ่ ที่จะต้องมีวิถีพึ่งพาเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอก ทำให้ผู้ที่อาศัยในเมืองไม่สามารถจะมีชีวิตพึ่งตัวเองได้ เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยจำเป็น ทั้ง อาหาร ยา ฯลฯ จากภายนอก
ขณะเดียวกันสิ่งที่พบคือ คนเฒ่าคนแก่ในหลายชุมชน อาจจะตามไม่ทันถึงข้อมูลของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจำเป็นที่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเหล่านั้นจะต้องได้รับข้อมูลที่สำคัญดังกล่าว เป็นความรู้เพิ่มเติมจากความรู้ที่พัฒนามาจากอดีต เพราะจุดอ่อนของคนในชุมชน คือจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกันภายในชุมชน แต่หากชุมชนรับรู้ ถึงข้อความปฏิบัติ และความเสี่ยงจากการรวมกลุ่ม ชุมชนก็จะสามารถนำ วิถีจารีตขึ้นมาปรับใช้ได้กับโรคและข้อปฏิบัติในปัจจุบัน เช่น การกักตัว การกักบริเวณผู้มีความเสี่ยงจากครอบครัว
โดย พฤ โอ่โดเชา
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Siwakorn Odochao และ chai.pongpipa
แหล่งข่าวจาก – ชายขอบ https://transbordernews.in.th/home/?p=24776