มท.1 พิจารณาให้สัญชาติผู้สูงอายุ แก่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธ์แล้วเสร็จ กำชับเจ้าหน้าที่ห้ามเรียกรับผลประโยชน์โดดเด็ดขาด

มท.1 พิจารณาให้สัญชาติผู้สูงอายุ แก่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธ์แล้วเสร็จ กำชับเจ้าหน้าที่ห้ามเรียกรับผลประโยชน์โดดเด็ดขาด

มท.1 เผยปรับปรุงแนวทางในการพิจารณาให้สัญชาติแก่ชน กลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติแล้วเสร็จ หวังให้ได้รับสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ กำชับ เจ้าหน้าที่ ห้ามเรียกรับผลประโยชน์โดดเด็ดขาด

เมื่อวันนี้ 20 ก.พ. 2563 ที่กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งว่ากรณีการขอสัญชาติของผู้สูงอายุไร้สัญชาติอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยกรณีผู้สูงอายุนั้น

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า บัดนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวในการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้วเพื่อเป็นการแก้ไขอุปสรรคในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิโดยได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎร์และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักพร้อมทั้งได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว ให้สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้เช่นเดียวกับคนต่างด้าวอื่นทั่วไปโดยปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้แปลงสัญชาติ ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ตามมาตรา 10 วรรคสอง คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ตามมาตรา 10 วรรคสาม คุณสมบัติเรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสี่ และคุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย มาตรา 10 วรรคห้า

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธ์รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ให้เร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายรัฐ และห้ามไม่ให้มีการแสวงหา หรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆจากการดำเนินการโดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรแล้วยังทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและจริยธรรมที่ดีของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

และการปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอแปลงสัญชาติในประเด็นต่าง ๆ มีดังนี้

– คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดีตามมาตรา 10 (2) ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด และพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยให้ใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ให้การรับรองแทน

– คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐานตามมาตรา 10 (3) 1. กรณีผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ 1) ต้องมีหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานหรือที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต แล้วแต่กรณี 2) ต้องมีหนังสือรับรองเงินเดือนหรือรายได้ จากนายจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ แล้วแต่กรณี และต้องมีหลักฐานการเสียภาษีมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันก่อนปีที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ (กรณีมีรายได้ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี) และ 3) ต้องมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท โดยอาจนำรายได้ของสามีหรือภรรยามารวมได้ หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทสำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่ได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าวเป็นเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปหรือมีคู่สมรสหรือบุตรเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเรียนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย 2. กรณีผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติติพันธ์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพหรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ที่ผู้ขอแปลงสัญชาติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพและให้ยกเว้นเรื่องการเสียภาษีและเกณฑ์รายได้

– คุณสมบัติเรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีตามมาตรา 10 (4) ให้นับระยะเวลาจากวันที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (จากใบสำคัญถิ่นที่อยู่) หรือวันที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่ถ้าเอกสารชำรุด สูญหาย หรือมีเหตุที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ให้นับระยะเวลาจากวันที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้เพิ่มชื่อผู้ขอแปลงสัญชาติในทะเบียนบ้าน

– คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทยตามมาตรา 10 (5) 1. กรณีผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ ต้องสามารถพูดและฟังภาษาไทยกลางเข้าใจได้ และสามารถร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ โดยต้องผ่านการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทยของจังหวัด และต้องผ่านเกณฑ์การให้คะแนนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน 2. กรณีผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ ให้พิจารณาจากการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร คือ สามารถพูดหรือฟังภาษาไทยกลางหรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ขอแปลงสัญชาติเข้าใจได้ โดยต้องผ่านการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทยของจังหวัด และไม่ต้องใช้เกณฑ์การให้คะแนน

แหล่งข่าว – ภาพจาก – กระทรวงมหาดไทย PR

ทีมข่าวแม่สายนิวส์ออนไลน์  ///////////  รายงาน  ////////////////////////

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *