เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่บริเวณผาอิง-ป่าแม่ยม อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านได้ร่วมกันจัดงาน “สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ 30 ปี ต้านแก่งเสือเต้น” โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มเครือข่ายต่างๆจากทั่วประเทศ 19 เครือข่าย กว่า 600 คน โดยเฉพาะชาวบ้านจากลุ่มน้ำที่กำลังมีโครงการสร้างเขื่อน ได้พากันเดินทางมาร่วมเรียนรู้ เช่น ลุ่มน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ลุ่มน้ำโขง จ.เชียงราย นอกจากนี้ยังมีการทำบุญให้กับนักต่อสู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นทั้งหมดได้ร่วมกันบวชป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ
ก่อนเดินทางไปบวชป่าชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีฌาปนกิจโดยใช้ดาบฟันและเผาหุ่นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยระหว่างที่ไฟไหม้หุ่น ชาวบ้านได้ร่วมกันสาปแช่ง ขณะที่นายสมพงศ์ ศรีคำภา ชาวบ้านดอนชัย ม. 1 ต.สะเอียบ กล่าวผ่านเครื่องกระจายเสียงว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกเสนอพร้อมเขื่อนปากมูล และโครงการโขงชีมูล แต่เราสามารถสู้ได้จนบัดนี้
“30 ปีที่เราต้องนอนหวาดผวา ทุกข์ยากเพียงใดเราเรียนรู้ เราเคยไปนอนหน้าทำเนียบตั้งแต่ปี 2535 เป็นเวลา 99 วัน 30 ปีที่เราซื้อแผ่นดินอยู่ 4 หมู่บ้าน เราไปดูมาหมดแล้ว ความทุกข์ยากเมื่อถูกสร้างเขื่อน ทุกวันนี้แม่น้ำโขงโดนเขื่อนกั้น ไม่ปล่อยน้ำลงมา เดือดร้อนกันหมดเห็นชัดเจนในข่าว ใครยังคิดว่าเขื่อนดี เขื่อนป่าสัก ชาวบ้านย้ายไปก็บ้านแตกสาแหรกขาด เขื่อนราษีไศล เขื่อนสิริกิตต์ สร้างหลายสิบปีทุกวันนี้ยังเดือดร้อนเรื่องค่าชดเชย พวกเราไปดูมาหมดแล้ว” นายสมพงศ์ กล่าว
ขณะที่นายประสิทธิชัย กาฬอ่อนศรี สมาชิกกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกล่าวว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งตอนหลังแปลงรูปเป็นโครงการเขื่อนยมบนและยมล่าง แต่ก็คือผีตัวเดียวกันที่ชาวบ้านไม่เอาด้วย โดยหลังจากที่นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ ชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ไม่เอาด้วย แต่นายสมศักดิ์ก็ยังอาศัยช่วงจังหวะในสถานการณ์น้ำท่วมผลักดันต่อ ดังนั้นชาวบ้านจึงมีมติให้เผาหุ่นนายสมศักดิ์ เช่นเดียวกับที่เคยเผาหุ่นนักการเมืองคนอื่นๆ ที่เคยผลักดันโครงการนี้ อย่างไรก็ตามล่าสุดชาวบ้านได้ร่วมขบวนกับสมัชชาคนจนไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา18 วันเพื่อขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนนี้ และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับปาก แต่กลับไม่เอาเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)
“จริงๆ แล้วแม้เขามีมติครม. หากเขาคิดจะสร้างเขื่อนต่อก็เขาก็แค่ขอมติครม.ใหม่ ซึ่งตรงนั้นอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ความยั่งยืนคือความเข้มแข็งของชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้าน” นายประสิทธิชัยกล่าว และว่าหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้ผืนป่าสักทองกว่า 3 หมื่นไร่ต้องจมน้ำ
นายก้องไมตรี เทศสูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม กล่าวว่าอุทยานแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่โดยเป็นป่าสักทอง 4 หมื่นไร่ซึ่งถือว่าเป็นผืนป่าสักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และนับวันยิ่งดีขึ้นเพราะชาวบ้านและอุทยานฯช่วยกันดูแล ล่าสุดยังพบนกเงือกเข้ามาหากิน นอกจากนี้ยังมีนกยูง เลียงผา เสือไฟและสัตว์ป่าอื่นๆ อีกมากมาย
“ที่นี่ชาวบ้านและอุทยานฯทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ตอนนี้เราสามารถสำรวจพื้นที่ได้หมดแล้ว ทั้งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่อื่นๆ ผมได้รายงานเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นระยะๆ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากจะมีการผลักดันสร้างเขื่อน” นายก้องไมตรี กล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ได้เห็นพ้องต้องกันในการพัฒนา และผลักดันการจัดการน้ำในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์เรื่องน้ำในส่วนของลุ่มน้ำยม ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำโดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง แก้มลิง และโครงการทางระบายน้ำ ยม-น่าน รวมทั้งบางระกำโมเดลที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
“คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องคืนความสุขให้กับพวกเราชาวบ้านที่เดือดร้อนและหวาดผวากับโครงการเขื่อนที่จะมาทำลายป่าสักทองกว่า 30,000 ไร่ และทำร้ายวิถีชีวิตชุมชน ตำบลสะเอียบ ทั้ง 4 หมู่บ้าน กว่า 1,000 ครัวเรือน จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) โดยเด็ดขาด และให้มีมติ ครม. รองรับ อีกทั้งการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน รวมทั้ง ให้รัฐบาลยึดการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยมด้วย “สะเอียบโมเดล” คือการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ขอให้รัฐบาล และนักการเมืองที่หวังผลประโยชน์ทั้งหลาย ยุติการรื้อฟื้น การผลักดัน โครงการเขื่อนดังกล่าว เพื่อเป็นการปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อย่างถาวร เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบแล้วตามยุทธศาสตร์เรื่องทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลได้วางไว้แล้ว”แถลงการณ์ระบุ
เวลา 13.00 น.ที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “เขื่อน ผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ” โดยผู้แทนเครือข่าย 19 องค์กรที่คัดค้านเขื่อนในแต่ละพื้นที่ได้ร่วมกันเล่าสถานการณ์ ทั้งนี้นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่าตนถือว่าเป็นรุ่นลูกหลานที่รับหน้าที่จากปู่ย่าตายาย และสร้างลูกหลานคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนต่อไป เพื่อปกป้องทรัพยากรป่า ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2532 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีการผลักดันเรื่อยมา โดยชาวบ้านไม่ได้คัดค้านแบบหัวชนฝาแต่มีทางเลือกให้กับรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาลคสช.ชาวบ้านก็ยังมีความกังวลเพราะเขาห้ามเคลื่อนไหว ชาวบ้านจึงใช้วิธียื่นหนังสือและมีคำสั่งให้ระงับโครงการไว้ก่อนแต่ในความเป็นจริงก็ยังมีความเคลื่อนไหว จนมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางทำเป็น “สะเอียบโมเดล” และส่งเรื่องให้กับกรมชลประทาน ทำให้ชาวบ้านไม่นิ่งนอนใจ จนกระทั่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้ามาผลักดันอีก ดังนั้นเมื่อครบ 30 ปีเราจึงมาร่วมกันจัดงานเพื่อแสดงพลังว่าชาวบ้านยังคัดค้านอยู่
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ https://transbordernews.in.th/home/?p=23963