ชาวบ้านจับคางคกถลกหนังปิ้งแกล้มเหล้า ไม่ถึงชั่วโมงแน่นท้อง อาเจียน หายใจลำบากและหมดสติ หามส่งโรงพยาบาลทุ่งช้าง ขณะที่หลานนำไก่มาปิ้งตะแกรงเดียวกัน ได้รับพิษจนต้องหามส่งโรงพยาบาล โชคดีพิษเบาบางแพทย์รักษาตามอาการปลอดภัย ขณะที่สาธารณสุขเตือน เมนูคางคก มีพิษอันตราย แม้ปรุงสุกก็ไม่ปลอดภัย เพราะความร้อนทำลายพิษไม่ได้
เวลา 09.00 น. วันที่ 29 ส.ค. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอทุ่งช้าง เร่งเข้าเก็บตัวอย่างคางคกปิ้ง ที่บ้านของผู้สูงอายุ อายุ 70 ปี ที่หมู่บ้านประดู่ ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน หลังกินเนื้อคางคกและไข่คางคกปิ้ง แล้วเกิดอาการมึนศีรษะ จุกแน่นท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หายใจลำบาก หมดสติ และเสียชีวิตทันที
โดยนางยอด เสียงกอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านประดู่ เล่าว่า ผู้สูงอายุ ได้จับคางคกตัวใหญ่ ขณะฝนตกได้ 1 ตัว และมาลองทำเมนูคางคกปิ้ง โดยในตัวคางคกมีไข่คางคกด้วย นำมาเป็นกับแกล้มรับประทานร่วมกับสุรา โดยชักชวนเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน และเพื่อนบ้านเป็นชายอายุ 45 ปี อีกราย มาร่วมวงรับประทานเมนูพิสดาร
ภายในช่วงเวลาไม่ถึงชั่วโมง ผู้สูงอายุมือชำแหละคางคก มีอาการแน่นท้อง อาเจียน หายใจลำบาก หมดสติ และเสียชีวิตทันทีที่บ้านพัก ขณะที่ผู้สูงอายุอีกราย มีอาการรุนแรงเช่นเดียวกัน ญาติเร่งนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ผู้ป่วย วัย 45 ปี อีกราย ญาติรีบมาไปส่งแพทย์ หลังทราบว่าได้ร่วมวงรับประทานเมนูคางคกด้วย และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องตลอดทั้งคืน โดยสอบสวนทราบว่าได้กินเนื้อคางคกปิ้งที่เหลืออยู่ในจานครึ่งตัว และมีไข่คางคกอยู่ในท้อง โดยได้ดึงเนื้อส่วนข้างตัวคางคกไปชิมและชิมไข่คางคกเพียงปลายนิ้วก้อย ร่วมกับดื่มสุรา 1 แก้ว
นอกจากนี้ยังมีหลานเป็นเด็กชาย–หญิง อายุ 6-7 ขวบ ได้นำเนื้อไก่ไปปิ้งบนตะแกรงที่ใช้ปิ้งคางคก มารับประทานกับข้าวเหนียว ก็เกิดมีอาการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งญาติได้ช่วยกันนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลทุ่งช้าง รวมมีผู้ป่วยจากพิษคางคกจำนวน 5 ราย เป็นผู้สูงอายุชายอายุ 70 ปี 2 ราย , อายุ 45 ปี 1 ราย และเด็ก 2 ราย โดยผู้สูงอายุ 2 ราย ได้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และเก็บชิ้นเนื้อคางคกที่เหลือในเตาปิ้ง ภายในบ้านพัก พร้อมเก็บซากคางคกที่ถูกชำแหละไปตรวจสอบเกี่ยวกับพิษ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย
นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า สารพิษที่พบในคางคก คือ บูฟากิน บูโฟท็อกซิน และบูโฟเทนนิน สามารถพบในผิวหนัง เลือด เครื่องในและไข่ ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ทันที ซึ่งความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ จึงขอเตือนประชาชน และผู้ชื่นชอบรับประทานอาหารเมนูแปลก ห้ามนำคางคก หรือไข่คางคกมาบริโภคเด็ดขาด ทั้งนี้หากประชาชนได้รับพิษจากการกินคางคกหรือไข่คางคก ควรรีบทำให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ข่าวจาก:http://www.khaosod.co.th/