พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เชื่อ ยาบ้า เป็นสินค้าเศรษฐกิจไม่มีทางทำให้หมดได้ ถาม กระทรวงสาธารณสุข ทำอย่างไรให้ ยาบ้าเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ ตัดวงจรการค้า
วันนี้ (18 ส.ค. 59) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกุล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เข้าร่วม
โดย พล.อ.ไพบูลย์ เผยที่ผ่านมาเราเดินผิดทางมาตลอด เพราะหากถูกทางทำไมผู้ต้องขังกว่า 70% ยังอยู่ในเรือนจำ มีคนตายไปเป็นพันคนแต่ทำไมปัญหาไม่จบ ทำไมชาวบ้านยังพูดว่ามียาเสพติดในชุมชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าต้องมีจุดผิดพลาด ขณะนี้สังคมโลกบอกว่าต้องยุติการทำสงครามและใช้ระบบสุขภาพแทน แต่การจะทำได้ต้องเตรียมความพร้อม และการแก้ต้องทำพร้อมกันทุกด้านไม่ได้ทำเฉพาะการปราบปราม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยมุ่งไปที่แหล่งผลิตแต่ปราบเฉพาะในประเทศ
ตนเชื่อว่ายาบ้าเป็นสินค้าเศรษฐกิจไม่มีทางที่จะทำให้หมดไปได้ ดังนั้นขอถามไปที่ กระทรวงสาธารณสุข ว่าจะทำอย่างไรให้ยาบ้าเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ ขอให้บอกตนพร้อมทำให้ทันที
ทั้งนี้ ยังเป็นเรื่องน่าหดหู่ที่การแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาไม่เป็นระบบโดยเฉพาะระบบการป้องกันที่ควรให้ชุมชนเป็นตัวนำ เพราะยาเสพติดถือเป็นปัญหาสังคม ชุมชนก็คือสังคม จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ 81,905 ชุมชน ซึ่งควรมีบทบาทเป็นหลักในระบบคัดกรอง เพราะคงไม่มีหน่วยใดที่จะรู้ข้อมูลพื้นที่และบุคคลได้มากเท่าท้องถิ่น
เช่นเดียวกับระบบป้องกันที่พื้นที่ควรมีบทบาทมากที่สุด โดยเดือนหน้าจะมีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตนบอกนายกรัฐมนตรีไว้แล้วว่าหากพื้นที่ใดทำไม่ได้ก็ขอให้ใช้มาตรา 44 โยกย้ายได้เลย
สำหรับการเปลี่ยนบัญชียาบ้าจากวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ไปเป็นประเภทที่ 2 นั้น ขอทำความเข้าใจว่ายาบ้าไม่ว่าอยู่ในบัญชี 1 หรือบัญชี 2 ก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่รัฐบาลยังเดินหน้าปราบปราม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน บัญชีรายชื่อนักค้ารายสำคัญมีเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 60 เครือข่าย พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจะเป็นโมเดลแก้ปัญหายาเสพติดระดับโลก ส่วนผู้เสพควรได้รับการบำบัดรักษา
ด้าน นพ.ปิยะสกล ยอมรับยาเสพติดไม่มีแนวโน้มจะลดลง จึงจำเป็นต้องปรับวิธีโดยเฉพาะเรื่องการให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องรับการรักษา ซึ่งการดูแลผู้ติดยาเสพติดควรขยายในวงกว้างทุกระดับ ไม่จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลแต่ต้องรวมถึงโรงพยาบาลสุขภาพตำบลด้วย พร้อมกันนี้ยังต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกันสำหรับการปรับแก้สถานะยาบ้า จากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 เป็นประเภท 2 ถูกกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่อยู่ระหว่างยกร่าง คาดว่าอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้
ข่าวมาจาก http://news.mthai.com/hot-news/general-news/514136.html