สมุนไพร เป็นพืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา สมุนไพรกำเนิดมาจากธรรมชาติ และมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะในทางสุขภาพทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค ความหมายของยาสมุนไพร ในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้ระบุว่า ยาสมุนไพร มีความหมายว่า ยาที่ได้จากพฤกษาชาติสัตว์ หรือ แร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพ เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นต้น ซึ่งมิได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ แต่ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่งแต่ในความรู้สึกของคนทั่วไปเมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น
พืชสมุนไพรสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทต้น เช่น ต้นพิกุล ต้นขี้เหล็ก ต้นมะตูม ประเภทเถา หรือเครือ เช่น เถาบอระเพ็ด เถาคันแดง ประเภทหัว หรือเหง้า เช่น หัวแห้วหมู เหง้าขิง เหง้าข่า และประเภทผัก เช่น ผักบุ้ง ผักกาดน้ำ ผักชี ส่วนสรรพคุณของสมุนไพรจะแบ่งออกตามรสชาติ 9 รส คือ รสฝาด เช่น กระท้อน มังคุด ข่อย ใช้สมานแผล แก้บิด คุมธาตุ แก้ท้องเสีย รสหวาน เช่น ลำไย ดอกคำฝอย น้ำอ้อย ซึบซาบไปตามเนื้อ ทำให้ร่างกายชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มคอ รสเมาเบื่อ เช่น ชุมเห็ดเทศ รากทองพันช่าง ใบลำโพง ช่วยแก้พิษ แก้พยาธิ แก้สัตว์กัดต่อย แก้โรคผิวหนัง รสขม เช่น สะเดา เถาบอระเพ็ด ขี้เหล็ก แก้ไข้ เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ทางโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร รสเผ็ดร้อน เช่น กระเพรา กานพลู ขิง แก้ลม บำรุงธาตุ ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รสมัน เช่น เมล็ดงา หัวแห้ว เมล็ดถั่วต่างๆ แก้เส้นเอ็น บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย รสหอมเย็น เช่น ชะเอม เตยหอม หญ้าฝรั่น บำรุงหัวใจ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ รสเค็ม เช่น ใบหอมแดง ใบกระชาย เปลือกต้นมะเกลือ ซึบซาบไปตามผิวหนัง รักษาโรคผิวหนัง รสเปรี้ยว เช่น มะนาว ใบมะขาม ลูกมะอึก แก้เสมหะพิการ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
พืชสมุนไพรในท้องถิ่นภาคเหนือสามารถพบเห็นได้ง่าย ได้แก่ ว่านรางจืด เป็นไม้เถาชอบขึ้น กับต้นไม้ใหญ่ และบริเวณริมรั้วบ้าน เถามีลักษณะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ สรรพคุณของรางจืด แก้ร้อนใน แก้อาการกระหายน้ำ รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษต่างๆ ได้ อัญชัน ลักษณะของดอกอัญชันจะมีสีขาว สีฟ้า สีม่วง ส่วนตรงกลางดอกจะมีสีเหลือง และรูปทรงคล้ายหอยเชลล์ มีสรรพคุณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีสารที่ชื่อว่า ” แอนโทไซยานิน ” (Anthocyanin) ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีมากขึ้น หากบริโภคดอกอัญชันสดวันละหนึ่งดอกจะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ ว่านไฟไหม้ หรือว่านหางจระเข้ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ใบหนาและยาว โคนใบใหญ่ ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหนามแหลมห่างกัน แผ่นใบหนาสีเขียว มีจุดยาวสีเขียวอ่อน อวบน้ำ ข้างในเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อน นำวุ้นสีเขียวอ่อนมาล้างน้ำให้สะอาดมาพอกบริเวณแผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก จะช่วยบรรเทาอาการอาการปวดแสบปวดร้อนได้ ทำให้รอยแผลเป็นจางลง
การเก็บรักษาสมุนไพร ควรเก็บยาสมุนไพรในที่แห้งและเย็น แยกประเภทของสมุนไพรในการรักษาโรค เพื่อป้องกันการหยิบยามาใช้ผิด สถานที่เก็บสมุนไพรต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับชื้น เนื่องจากอาจก่อเชื้อราในสมุนไพรได้ ก่อนเก็บยาสมุนไพรควรตรวจสอบดูความเรียบร้อยว่ามีสัตว์หรือแมลงต่างๆ เข้าไปทำลายหรือก่อความเสียหายกับสมุนไพรที่เก็บรักษาหรือไม่.
ที่มาแหล่งข่าว นายชินวร พิริยพงศ์พิทักษ์
นักวิทยาศาสตร์เกษตร
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่