จับตาจุดพลิกผันเลือกตั้ง24มีนาฯ
จับตาจุดพลิกผันเลือกตั้ง24มีนาฯ : เงื่อนปมการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี คลี่คลายลงชั่วคราว
หลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป หรือ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ส. มีผลใช้บังคับเมื่อช่วงสายวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา
ทันทีทันใดช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตั้งโต๊ะแถลงเปิดปฏิทินไทม์ไลน์ต่อสื่อมวลชน ถึงมติที่ประชุม กกต.กำหนดให้
24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้ง
โดยมีกำหนดเวลาดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ กกต.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 24 มกราคม คือ
วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ เป็นวันเปิดรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต
ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมแจ้งชื่อบุคคลในบัญชีพรรคที่จะเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ช่วง 28 มกราคม ถึง 19 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเปิดให้ผู้ประสงค์จะใช้สิทธิล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง
รวมถึงการใช้สิทธินอกราชอาณาจักร ลงทะเบียน โดยยื่นคำขอผ่านนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น สถานเอกอัครราชทูตผ่านช่องทางไปรษณีย์หรืออินเตอร์เน็ต
โดยกำหนดให้ 4-16 มีนาคม เป็นวันออกเสียงนอกราชอาณาจักร และ 17 มีนาคม เป็นวันออกเสียงล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง และ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อสัญญาณเลือกตั้งชัดเจน พรรค การเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวที่เคยหวาดระแวงว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปไม่จบสิ้น ก็เบาใจไปได้เปลาะหนึ่ง
เพราะถึงจะมาช้า ก็ยังดีกว่าไม่มาเลย
ท่ามกลางเสียงปี่กลองเลือกตั้งดังรัวๆ
พรรคการเมืองเริ่มขยับไปตามจังหวะ ถึงจะยังไม่สามารถลุยหาเสียงได้เต็มรูปแบบ เพราะยังต้องรอหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแต่ละเขต ที่จะทยอยรู้หลังวันที่ 4 กุมภาพันธ์
รวมถึงสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง ก็ต้องรอให้กกต.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกประกาศหลักเกณฑ์อีกครั้ง ซึ่งก็จะต้องรอถึงหลังวันปิดสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน
กกต.อ้างว่าถึงจะมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการรับสมัคร จึงไม่ทราบชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะผูกพันกับจำนวนป้ายและค่าใช้จ่ายหาเสียงซึ่งเริ่มนับแล้วตั้งแต่วันที่24 มกราคม
ตลอดจนการหาเสียงผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งว่าที่ ผู้สมัครหลายคนยังสับสนว่าอะไรทำได้ อะไรไม่ได้ หลายคนไม่สนใจใครจะหาว่าเป็นกระต่ายตื่นตูม ชิงปิดเฟซบุ๊ก งดโพสต์หาเสียงไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย
เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก ประกาศ ระเบียบ รูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากการเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554
จนหลายอย่างเป็นอุปสรรค เช่น รูปแบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การแบ่งเขตพิสดาร หรือล่าสุดการให้ผู้สมัครส.ส. ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กฎกติกาเหล่านี้ถึงจะจุกจิก ไม่สมเหตุสมผล แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องศึกษาให้แม่นยำถี่ถ้วนก่อนการ หาเสียง ไม่เช่นนั้นมีสิทธิ์ถูกแจกใบเหลือง–ใบแดง ได้ง่ายๆ
เหมือนที่ใครหลายคนทำนายไว้ก่อนหน้าว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะมีการร้องเรียนกันมากเป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คนบางกลุ่มวาดหวังเอาไว้
หรือเป็นการเลือกตั้ง“เสียของ”นั่นเอง
สําหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ในบรรดาพรรคการเมืองที่มีมากกว่า 100 พรรค ตามความเข้าใจของประชาชนได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ
พรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นหัวขบวน กับพรรคฝ่ายคสช. มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวขบวน
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ต่างก็ได้รับการคาดหมายว่า พรรคใดพรรคหนึ่งในสองพรรคนี้จะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
และเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนพรรคใดจะเสนอชื่อใครอย่างไรนั้น ไม่เกินวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครเลือกตั้งก็จะได้รู้กัน ว่าประชาชนจะ“ยี้” หรือ“เฮ” กันทั้งประเทศ
ตามที่มีข่าวล่าสุด แต่ละพรรคเตรียมเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯ ประชันกันดุเดือด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนอกจากนโยบายหาเสียง และผลงานในอดีตที่โดนใจชาวบ้าน
คนที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกฯ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดผลแพ้ชนะเลือกตั้งด้วย
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องอยู่นอกเหนือความคาดหมาย จากข่าวพรรคพลังประชารัฐเตรียมใส่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้ในบัญชีนายกฯ อันดับ 1
ตามด้วยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แกนนำตัวจริงเสียงจริง
ซึ่งน่าจะชัวร์ 99 เปอร์เซ็นต์ ถึงเจ้าตัวพล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่พูดออกมาให้ชัดๆ แต่คงเป็นเพราะกลัวถูกกระแสกดดัน ให้แสดงสปิริตเหมือน 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ มากกว่าจะเป็นสัญญาณส่อพลิกโผ
เตรียมหันใช้ทางลัด รอเทียบเชิญ“นายกฯคนอก”
ตามที่มีข่าวปล่อยออกมาเป็นระยะๆ
ขณะที่พรรคคู่ปรับอย่างพรรคเพื่อไทย
3 รายชื่อผู้ท้าชิงนายกฯ ตัวเลือกย่อมหนีไม่พ้นชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และนายชัยเกษม นิติสิริ มือกฎหมายระดับ อดีตอัยการสูงสุด
สำหรับพรรครองๆ ลงมา พรรคไทยรักษาชาติจะเสนอชื่อร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค กับนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค, พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อเดียว
เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค, พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอชื่อน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค และพรรคอนาคตใหม่ ที่คาดว่าจะเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคคนเดียวเช่นกัน
ขณะที่พรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่เสนอชื่อใครเลยแม้แต่หัวหน้าพรรคของตัวเอง เนื่องจากมีจุดยืนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่แรก
หากมองจากตรงนี้เส้นทางไปสู่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปตามสเต็ป
หากไม่มีการชี้ให้เห็นถึง“จุดพลิกผัน”เสียก่อน
จุดพลิกผันที่ว่าก็คือหาก กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งจำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ ได้ทัน 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามกรอบเวลา 150 วัน นับจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2561 จะเกิดอะไรขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่บางพรรคตั้งเป้าไว้
ที่คาดการณ์กันไว้ก็คือ อาจมีการส่งคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลคสช.อยู่รักษาการในอำนาจต่อไป จนกว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
ถึงจะเป็นการคาดการณ์ลอยๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องนายกฯคนนอก และรัฐบาลแห่งชาติ ที่บางคนยังพยายามพูดถึงไม่เลิก
การเลือกตั้ง 24 มีนาคม เริ่มต้นเดินหน้าแล้ว แต่จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
ห้ามกะพริบตากันเลยทีเดียว
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2135532