วันนี้ (2 มกราคม 2561) นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่าได้รับแจ้งว่า บริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง เมเนจเมนท์ จำกัดจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงในช่วงหลังปีใหม่ ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมนี้ หลังจากที่ประกาศเลื่อนการจัดเวที ซึ่งเดิมกำหนดเป็นวันที่ 12 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งเว็บไซต์ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค จ.เชียงราย ที่ได้โพสต์หนังสือแจ้งการจัดเวทีรับฟังความเห็นเตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกัน แก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง เช่นเดียวกัน นายจีระศักดิ์กล่าวว่า เนื้อหาในเอกสารประกอบการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนฯ ระบุว่า การปรับปรุงทางเดือเรือครั้งนี้เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินเรือได้สะดวก ซึ่งต้องมีการปรับปรุงร่องน้ำโขงให้มีความลึก 2.5 เมตร กว้าง 30และ 50 เมตร วงเลี้ยว 330 เมตร แนวทางในการปรับปรุงเกาะแก่งที่อยู่ในเขตประเทศไทยและลาว จำนวน 13 จุดคือ เกาะสามเหลี่ยมทองคำ เกาะบ้านแซว แก่งผาปืนตอนบนและแก่งผาปืน แก่งคอนผีหลง แก่งหาดห้วยลึก แก่งไก่ แก่งจงชัย (ช่องไซ) เกาะคอนเอียน เกาะปากน้ำห้วยยะ เกาะผาวู (ผาวัว) แก่งปากน้ำทิน และแก่งก้อนคำ โดยวิธีการขุดลอกหน้าดิน การย้ายหินที่อยู่บนผิวน้ำและอยู่ใต้น้ำ ด้วยการเจาะ และการระเบิดด้วยเครื่องเจาะแบบอัดลม และการก่อสร้างเขื่อนกันการพังทลายของเกาะ โดยเศษหินและตะกอนจะใช้การขนย้ายด้วยเรือท้องแบน ไปทิ้งบนพื้นที่ทิ้งที่บริเวณแอ่งน้ำลึกในแม่น้ำโขง ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแต่ละบริเวณและพื้นที่ที่บนฝั่งทั้งในเขตไทยและลาว โดยพื้นที่มีคาดว่าจะมีการขุดลอกท้องน้ำแม่น้ำโขงมากที่สุดคือ บริเวณเกาะบ้านแซว ซึ่งระบุว่ามีความยาว 2,600 เมตร กว้าง 60 เมตร ระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือมีความยาวทั้งสิ้น 631 กิโลเมตร ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 60 เดือน โดยแบ่งเป็นการก่อสร้าง 48 เดือน และส่วนของการสำรวจร่องน้ำภายหลังการปรับปรุง และทดสอบการเดินเรือ 12 เดือน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ชาวบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ได้จัดทำบุญเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบริเวณแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ที่บริเวณท่าน้ำแม่น้ำโขงของบ้านห้วยลึก ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่ชายแดนไทย-ลาว ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว โดยชาวบ้านที่ทราบข่าวเกี่ยวกับการจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการระเบิดแก่งฯ ในครั้งนี้ต่างแสดงความกังวลใจต่อโครงการดังกล่าว นายทองไหล บัวไงเดช อายุ 52 ปี ชาวบ้านห้วยลึก กล่าวว่า โครงการระเบิดแก่งฯ จะทำให้เกิดปัญหาตลิ่งพังมาก ที่ดิน บ้านเรือนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงคงจะต้องพังไปเรื่อยๆ เพราะแก่งเป็นตัวช่วยชะลอน้ำ แหล่งหาปลาคงจะไม่มีแล้ว และคงจะไม่ได้กิน ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเดินเรือ มีแต่จีน พ่อค้าอย่างเดียวที่จะได้ประโยชน์ ชาวบ้านก็คงจะทุกข์ไปเรื่อย ไม่มีที่หาปลาเหมือนเดิม นายพันธ์ กัญญาเดช ชาวบ้านห้วยลึก กล่าวว่า ถ้าเรายอมให้ระเบิดแก่ง ก็ถือว่าเป็นความเสียหายทั้งหมดทุกสิ่งอย่าง สูญเสียวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้าน “ขอคัดค้านเลย ไม่ให้ระเบิด สูญเสียที่อยู่ปลา ไก (สาหร่ายแม่น้ำโขง) แต่ก่อนเคยหาปลา 10 นาที ได้ปลามาเลี้ยงลูกเมีย แต่ตอนนี้ไปหา 4-5 ชั่วโมงกว่าจะได้ปลา เราไม่อยากทำลายสิ่งสำคัญของประชาชนตั้งแต่เหนือจรดใต้ แม่น้ำโขงเป็นชีวิตของประชาชน ประชาชนไม่ได้อะไรจากการระเบิดแก่งแน่นอน แค่การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนก็ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้ว มีแต่นายทุนจะได้ประโยชน์จากการระเบิดแก่งครั้งนี้” ชาวบ้านห้วยลึก กล่าว อนึ่งโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพานิชย์บนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันว่า โครงการรระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน ระหว่างเมืองซือเหมา ในมณฑลยูนนาน จีน ถึงเมืองหลวงพระบางในลาว แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย โดยจะปรับปรุงร่องน้ำโขงเป็นระยะทาง 631 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง และระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กิโลเมตร จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน จำนวน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งได้เกิดการต่อต้านอย่างหนัก จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2560 นายดอน ปรมัตถวินัย ได้ประกาศว่ามีการชะลอโครงการ โดยระบุว่าเป็นของขวัญที่จีนมอบให้ชาวไทย SHARE.
ขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19827 .