เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน เพื่อแจ้งถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน ต่อโครงการเดินเรือบนแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า บริษัททีมคอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซึ่งได้รับการมอบหมายจากบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน ที่ได้รับอนุญาตในการสำรวจการดำเนินงานออกแบบและสำรวจเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ การศึกษาสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ ทางบริษัททีมฯ จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2561จำนวน 8 เวที ในพื้นที่อำเภอเชียงของ เวียงแก่นและเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยเริ่มต้นเวทีแรกที่อำเภอเชียงของ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวอีกว่า เมื่อช่วงปี 2560 มีการการสำรวจทางธรณีวิทยาและอุทกวิทยา ในบริเวณแม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาว ว โดยคณะสำรวจของบริษัทจีน CCCC ในระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2560 – 26 พฤษภาคม 2560 โดยได้มีการสำรวจพื้นที่จำนวน 15 จุด 168 หลุมเจาะ ตลอดชายแดนไทย 97 กิโลเมตร จากอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ตรงข้ามแขวงบ่อแก้ว ต่อมาบริษัททีมฯ ได้เข้ามาจัดกิจกรรมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาของโครงการ และข้อกังวล/ห่วงใย และข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ ระหว่างวันที่ 21 – 27 กันยายน 2560 จำนวน 7 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 811 ราย
โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและการทำมาหากิน ทั้งนี้แผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาในจีน ถึงเมืองหลวงพระบางในลาว แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ โดยจะปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 631 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบางเพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง และระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กิโลเมตร จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน จำนวน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าตนมีความสงสัยว่าการจัดเวทีนี้จะเป็นเรื่องของกระบวนการศึกษาของบริษัทเพื่อทำให้จบกระบวนการที่ทางจีนว่าจ้าง หรือไม่ เพราะความเห็นของประชาชนจากการรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้บอกไปทั้งหมดแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการที่เรือจีนจะสามารถล่องลงมาได้ถึงชายแดนไทย และเมื่อก่อนปีใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศก็ยังบอกผ่านสื่อมวลชนแล้วว่าจีนยอมระงับแล้ว แต่นี่ยังมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร “การจัดเวทีนี้ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว สำหรับประชาชนริมโขงนั้น เรื่องระเบิดแก่งมันจบแล้ว ทำไมยังมาจัดเวทีอีก หากมาเพื่อเคลื่อนไหวเดินหน้าโครงการต่อ ต้องถูกต่อต้านจากประชาชนแน่นอน แล้วสิ่งที่ที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยเคยประกาศไว้มันคืออะไร อยากรู้ว่าหน่วยงานความความมั่นคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก การเอาเรือมาระเบิดแก่งในดินแดนเรา แถมกระบวนการศึกษาครั้งนี้ว่าจ้างโดยบริษัทจีน โดยไม่ได้ผ่านพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและกว้างขวาง” นายสมเกียรติ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ที่เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าประเด็นที่จีนมีโครงการปรับปรุงร่องน้ำด้วยการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเหนือของไทยนั้น จากการพูดคุย จีนมีท่าทีสร้างสรรค์ หลังรับทราบว่าเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนไทย จึงพร้อมจะเลิกโครงการหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งช่วยคลายความกังวลแก่คนไทยได้มาก ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยด้วย อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบอนุญาตให้จีนสำรวจการดำเนินงานออกแบบและสำรวจเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งการระเบิดแก่งในน้ำโขงที่ไหลผ่านไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนริมแม่น้ำโขง นักวิชาการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วน แต่ประเด็นดังกล่าวได้เงียบหายไปหลังจากนายดอนประกาศว่าโครงการนี้ได้ชะลอออกไป
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19713 .