บริษัทยักษ์จีน “ต้าถัง”ถกภาคประชาชนเตรียมเดินหน้าสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงเฉียดแดนไทย นักวิชาการชี้ข้อมูลไม่ชัดในหลายประเด็น-หวั่นปลาบึกสูญพันธุ์ อธิบดีลาวปฎิเสธทำวิจัยเพิ่ม หวั่นล่าช้า

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการประชุม “Technical Consultation Meeting”ระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและผู้แทนบริษัทต้าถัง เพื่อรับฟังและชี้แจงข้อมูลในโครงการสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งกั้นลำน้ำโขงในประเทศลาว และอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเนื่องจากอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงรายเพียง 90 กิโลเมตร

ทั้งนี้ในส่วนของฝายของบริษัทต้าถังได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วม 11 คน นำโดยนายวูเตา ผู้บริหารบริษัทต้าถังในลาว นอกจากนี้ยังมีผู้ประสานงานฝ่ายไทยนำโดยพลตำรวจตรีณัฐกณฑ์ การปลูก ที่ปรึกษาบริษัทอัลติมาและคณะอีก 6 คน และบริษัทต้าถังยังได้เชิญนายจันแสวง บุญนอง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย ขณะที่ฝ่ายไทยประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านประมง นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนกรมประมง และประชาชนที่สนใจ ตัวแทนบริษัทต้าถังกำลังชี้แจง ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าเราได้รับทราบเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ในทศวรรศนี้โดยนักวิชาการและประชาชนที่เกี่ยวข้องต่างรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้อีกหรือไม่ และไม่ทราบว่าโครงสร้างการสร้างเขื่อนในแต่ละแห่งเป็นอย่างไร เราจึงอยากเห็นโครงสร้างที่บริษัทต้าถังซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลลาวได้เตรียมไว้ และมีหลายคำถามจากนักวิชาการและประชาชนไทย ซึ่งเราเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนกัน ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราจะเดินไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันอย่างไร

เราถือว่าการประชุมครั้งนี้แลกเปลี่ยนกันโดยใช้วิชาการร่วมถกกัน โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจแต่ต้องร่วมรับผิดชอบกับคนรุ่นหลังอย่างไร แม้แต่ในจีนก็ใช้คำว่านิเวศวัฒนธรรมซึ่งเป็นหัวใจในจิตสำนึกที่ต้องรับผิดชอบต่ออนาคตเพื่อให้รอบคอบ ไม่ใช่แค่เอาการมองเฉพาะส่วนเป็นที่ตั้ง น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ฝ่ายวิชาการของคณะทำงานฝ่ายไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการซึ่งได้แจ้งไปยังฝ่ายต่างๆ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ตอบชี้แจงมาด้วยว่า ยังไม่ได้มีการบรรจุเรื่องแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงไว้แต่อย่างใด และกฟผ.ยังได้พูดถึงข้อตกลงร่วมกันของเขื่อนปากแบงที่ต้องมีแผนปฎิบัติการร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบ น.ส.เพียรพรกล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเท่าที่มีของโครงการเขื่อนปากแบงซึ่งเป็นของบริษัต้าถัง พบว่ายังมีข้อมูลไม่ชัดเจนในหลายประเด็น เช่น เรื่องผลกระทบเรื่องปลาที่น้อยมากทั้งเรื่องกลุ่มตัวอย่างและพันธุ์ปลา ที่น่าสนใจคือมาตรการเบาเทาผลกระทบจากการอพยพของปลานั้น แม้จะมีมาตรการออกมา เช่น ทางปลาผ่าน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่จะใช้ทางปลาผ่านได้อย่างไร ทั้งตอนอพยพขึ้น-ลง นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าปลาจะอพยพลงได้อย่างไร และยังมีข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อมูลเก่า ส่วนผลกระทบด้านสังคมนั้น งบประมาณที่วางไว้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณโครงการ ทำให้ลงไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบน้อยมาก ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านประมง กล่าวว่าผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในประเทศจีนนั้นมีผลกระทบมากมาย โดยเราพบพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงกว่า 900 ชนิดทั้งเป็นปลาที่อพยพเดินทางไกล เช่น ปลาบึก และปลาอพยพในระยะสั้นๆเป็นช่วงๆ โดยมีตัวอย่างจากเขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จในประเทศจีนซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำถาวร โดยเขื่อนทำให้เกิดการแบ่งแยกการไหลเวียนของระบบนิเวศ เพราะทำให้แม่น้ำถูกตัดแบ่งและปิดกั้นโดยเฉพาะในแม่น้ำสาขาสายหลัก เช่นเดียวกับแม่น้ำสายประธานก็ถูกปิดกั้นเช่นกัน เราพบว่าระดับน้ำสูงสุดในช่วงฤดูฝนและต่ำสุดในหน้าแล้งนั้นไม่มีแล้วหลังจากสร้างเขื่อน โดยมีข้อสังเกตคือน้ำจะท่วมมิดแก่งกลางน้ำโขงอยู่ตลอดเวลา ดร.ชวลิต กล่าวว่าแม่น้ำโขงเป็นแหล่งของปลาที่เป็นความมั่นคงทางอาหารของคนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคนโดยที่เชียงรายจับปลาได้น้อยลงมาก จากเรือประมงกว่า 1,000 ลำเหลือเพียง 300 ลำแต่ไม่อาจโทษเขื่อนได้อย่างเดียว อาจมีปัจจัยอื่นด้วย

โดยมีปลาที่จับขายในตลาดอยู่ราว 150 ชนิดและมีอย่างน้อย 5 ชนิดกำลังสูญพันธุ์ เช่นปลาบึกซึ่งมีแหล่งวางไข่ในแม่น้ำโขงแถวจังหวัดเชียงราย ดังนั้นหากมีการสร้างเขื่อนใต้จังหวัดเชียงรายก็ทำให้ปลาบึกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะเราไม่แน่ใจว่าปลาบึกจะใช้ช่องทางปลาผ่านได้หรือไม่ “ปลายาวเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่อพยพทางไกล หากินอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงในเวียดนามและอพยพมาวางไข่แถบแม่น้ำโขงภาคอีสาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากมีการสร้างเขื่อนกั้น จะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ เชื่อว่าจะมีปลาอพยพหลายชนิดต้องสูญพันธุ์หากมีเขื่อนกั้นเส้นทางการวางไข่ของพวกเขา”ดร.ชวลิต กล่าว ดร.อภิสม อินทรลาวัลย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบในเรื่องความมั่นคงด้านต่างๆอีกต่อไปเพราะมีผลกระทบสูงมาก โดยความสูญเสียจากปลานั้นสูงกว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับและได้ประโยชน์แค่ไทยและลาว ขณะที่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามไม่ได้ประโยชน์ ที่สำคัญคือเขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยในการได้พลังงานไฟฟ้าและได้ผลตอบแทนต่ำ เราน่าจะชะลอโครงการสร้างเขื่อนออกไปก่อนเพื่อดูว่าช่องทางปลาผ่านนั้นได้ผลหรือไม่ นายหาญณรงค์ กล่าวว่าในช่วงที่รับฟังความคิดเห็นกรณีเขื่อนปากแบงเมื่อปี 2560 ซึ่งตนได้ฟังอยู่ด้วย ซึ่งชาวบ้านมีข้อกังวลอยู่หลายประการเพราะเขื่อนปากแบงอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอยู่แค่ไหน และสันเขื่อนมีขนาดไหนก็ต้องชัดเจน ก่อนที่จะมีการเดินหน้าโครงการ ควรต้องประสานความร่วมมือให้ชัดเจน อย่างกรณีเขื่อนพังในลาวซึ่งก็ไม่เคยมีใครคิดว่าจะพังและส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งประชาชนที่เกี่ยวข้องมีข้อกังวลเช่นนี้ในทุกเขื่อนทั้งสิ้น แต่ยังไม่ได้คำชี้แจงที่ชัดเจน ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการควรกลับมาหารือกับท้องถิ่นและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน ดร.พิศิฐ ภูมิคง ผู้แทนกรมประมง กล่าวว่าสิ่งที่เรากังวลคือเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับปลาเพราะข้อมูลที่บริษัทนำเสนอมายังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น กรณีปลาบึกก็ต้องบอกว่าใช้ทางผ่านได้ให้ชัดเจน และหากเกิดผลกระทบจริงๆแล้วจะมีการบรรเทาอย่างไร ดร.สาธิต ภิรมส์ไชย ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าเราไปรับฟังความคิดเห็นกรณีเขื่อนปากแบงมาแล้ว 4 ครั้งและนำเสนอความเห็นอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลลาว ไม่ใช่แค่ความเห็นของภาคประชาชนอย่างเดียว แต่เป็นความเป็นของภาคราชการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมจากเขื่อนนั้น เรายังไม่แน่ใจว่าท่วมถึงแค่ไหน และคนในพื้นที่มีความเสี่ยงอย่างไรโดยได้สอบถามรัฐบาลลาวไปแล้ว นอกจากนี้ เราต้องการให้ลาวเข้าไปบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบเพราะจะช่วยในเรื่องเตือนภัยได้ และหัวใจสำคัญคือเรื่องของโครงสร้างเขื่อน นอกจากนี้เรายังเป็นห่วงในเรื่องของตะกอนสะสมซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในท้ายน้ำ เรายังมีข้อเสนอแนะไปว่า ควรศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับน้ำเสียที่จะเข้าประเทศไทย และควรมีการสำรวจทางกายภาพและควรศึกษาให้เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญควรเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย นายวูเตา ผู้แทนบริษัทต้าถัง กล่าวว่า เป็นการเปิดความร่วมมือใหม่ๆในภูมิภาคแม่น้ำโขงโดยการประชุมในครั้งก่อนได้เข้าถึงข้อตกลงหลักในเรื่องของเขื่อนปากแบงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในฐานะผู้พัฒนาโครงการมีหลายปัจจัยทีเราคำนึกถึงโดยเฉพาะปฎิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี เราเชื่อว่ารัฐบาลลาวและผู้พัฒนาโครงการทำให้โครงการนี้มีประโยชน์ชัดเจน เราเริ่มจากการศึกษาข้อมูลต่างๆก่อนและจัดตั้งที่ปรึกษาสาขาต่างๆทำงานตามที่กำหนดไว้ในแผนงานตามมาตรฐานของหลักการสากล เรายังได้ปรึกษาหารือกันในระดับภูมิภาคด้วยโดยเรามีจุดยืนให้เวทีต่างๆสื่อสารเข้าใจโครงการมากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียศึกษาเรื่องเส้นทางปลาผ่าน “กิจกรรมที่เราเข้าร่วมแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาและความต้องการต่างๆ ซึ่งในการประชุมครั้งแรกเราเสนอแผนจัดการปัญหาที่ตรงกับข้อกังวลต่างๆ เช่น ทางเดินเรือ ซึ่งมีแผนด้านความปลอดภัย เส้นทางปลาผ่าน เราได้จัดตั้งทีมและออกแบบขึ้นมาใหม่ เรายังได้จัดตั้งโปรแกรมศึกษาการอพยพของปลาเพื่อนำไปใช้ต่อไป ส่วนการออกแบบอ่างเก็บน้ำที่กังวลว่าน้ำจะท่วมถึงแก่งผาไดในไทยนั้น เราได้ลดความขนาดของเขื่อนลงและปรับเปลี่ยนการออกแบบรวมทั้งความสูง เราออกแบบโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อฝั่งไทย”นายวูเตา กล่าว นายจันแสวง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำลาว กล่าวว่ารัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับความร่วมมือครั้งนี้มาก การพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลลาว ขอบคุณในความห่วงใย ด้วยความยากจนของประเทศจึงต้องมีการลงทุนและทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ในประชาคมอาเซียนโดยบริษัทต้าถังเป็นแขกของรัฐบาลลาวที่ชวนมาลงทุน โดยโครงการสร้างเขื่อนปากแบงเริ่มจากการศึกษาโดยองค์การแม่น้ำของ จนปี 1994 ได้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่ในการศึกษาเรื่องเขื่อน และเราได้ลงนามกับบริษัทต้าถังในการสร้างเขื่อนปากแบงโดยใช้เวลา 13 ปี นายจันแสวงกล่าวว่าเขื่อนน้ำงึม 1 ทางตอนใต้ของลาว เป็นตัวอย่างของการพัฒนาโดยก่อนสร้างเขื่อนได้ยืมไฟฟ้าจากไทยเพื่อนำมาสร้างเขื่อนโดยหลังสร้างเสร็จในปี 1970 ไฟฟ้าทั้งหมดถูกส่งข้ามมาฝั่งไทย ทำให้ลาวเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นตนจึงเข้ามาร่วมโครงการนี้โดยรัฐบาลลาวสั่งให้ฟังทุกความเห็นมาพิจารณาในทุกประเด็น ตนจึงเข้าร่วมในเวทีทั้งสองครั้งเพื่อเสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชา โดยเราพยายามจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นในแผ่นดินลาว “หากไปดูเขื่อนน้ำงึม 1 เขาก็ยังขายปลากันทุกวันเพราะมีการขายปลาเลี้ยง ในเมืองไทยก็ได้มีการพัฒนาเขื่อนไปมากมาย จนถึงขั้นอิ่มตัว ดังนั้นบทเรียนต่างๆในไทยควรถ่ายทอดให้ลาว โครงการเขื่อนปากแบงเราได้หารือในกรอบแม่น้ำของและรับฟังความคิดเห็นซึ่งได้แถลงข่าวร่วมกัน รวมทั้งประสานความร่วมมือเป็นแผนที่รัดกุมทุกด้าน และที่ผ่านมากระทรวงพลังงานไทยและลาวก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดโดยไดส่งข้อมูลให้กันตลอด เราไม่เคยปิดบังข้อมูลเลย”นายจันแสวง กล่าว นายจันแสวงกล่าวว่า เรื่องปลาที่อาจมีผลกระทบต่อไทยนั้น ก่อนหน้านั้นเราได้รวบรวมข้อมูลโดยให้ประชาชนแต่ละครอบครัวที่จับปลาได้ช่วยกันแจ้งผู้ใหญ่บ้านว่าได้ปลาอะไรและเท่าไหร่ เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว ปลาได้รับผลกระทบหรือไม่ โดยทางปลาผ่านนั้นได้ผ่านการออกแบบมาหลายครั้ง แต่เพราะไม่เคยมีมาก่อนจึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะการออกแบบให้ปลาหลายชนิดขึ้นได้นั้นยากมาก เราได้จ้างนักวิชาการหลากหลายมาออกแบบบ “ที่กลัวว่าปลาดขนาดใหญ่ผ่านได้หรือไม่ เรากำลังออกแบบว่ามีประตูเฉพาะให้ปลาผ่าน เราศึกษามา 13 ปีแล้ว เราจึงอยากให้มีการต่อยอด ควรมีการสำรวจปลาในไทย ให้ประชาชนแต่ละบ้านเก็บข้อมูลและส่งให้กรมประมงนำไปแลกเปลี่ยนกับลาว เพื่อได้รู้ว่ามีผลกระทบจริงหรือไม่ เก็บข้อมูลก่อนและหลังสร้างเขื่อนสำเร็จ”นายจันแสวง กล่าว นายนิวัฒน์ ร้อยแก้วกล่าวว่า เป็นความรู้สึกที่ดีที่เห็นบริษัทต้าถังและลาวมาร่วมแลกเปลี่ยน ประเด็นสำคัญที่ประชาชนใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงกำลังขับเคลื่อนคือเรื่องการมีธรรมาภิบาล เพราะเราเห็นว่าที่ผ่านมา กระบวนการขาดการมีส่วนร่วมจริงจัง เช่น งานวิชาการที่ทำอยู่ฝ่ายเดียวและทำเฉพาะคนกลุ่มเดียว เราอยากเห็นงานวิชาการจากทุกภาคส่วน เพราะเห็นแล้วว่างานที่ศึกษามายังไม่ชัดเจน อยากฝากบริษัทต้าถังด้วยว่างานวิชาการต้องมาก่อน และการปฎิบัติถึงตามมา แต่ที่ผ่านมากลับสร้างกันไปก่อนแล้วงานวิชาการค่อยตามมา การจะเปลี่ยนแปลงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนได้ต้องศึกษางานวิชาการร่วมกัน เพราะถ้าต่างคนต่างคิดก็กลายเป็นความข้ดแย้ง อันไหนที่ยังไม่ชัดก็ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะนั่นคือข้อผิดพลาดในอนาคต หากปล่อยไปก็จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้ “ภาคประชาสังคมอยากเห็นมากที่สุดคือเอางานภาควิชาการมาก่อน แล้วการปฎิบัติค่อยตามมา เราอยากเห็นการพัฒนาความร่วมมือในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ภายใต้ควาเป็นสากลของโลก เราเองก็อยากให้ประชาชนลาวหลุดพ้นความยากจน แต่ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่พากันไปข้างหน้าและยังยากจนต่อไป”นายนิวัฒน์ กล่าว ทั้งนี้ในช่วงท้ายการประชุม ฝ่ายไทยพยายามเสนอให้บริษัทต้าถังและลาวร่วมกันศึกษาในหลายประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะเดินหน้าโครงการ แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยง โดยนายจันแสวงบอกว่าอยากเห็นการศึกษาในประเด็นที่ต่อยอดจากการศึกษาเดิมมากกว่าเพราะโครงการนี้ได้ผ่านการศึกษามานานถึง 13 ปีแล้ว ขณะที่ตัวแทนบริษัทต้าถังยืนยันว่าตัวเองได้ดำเนินตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้ว

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก  – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19649 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *