เมื่อวันที่ 10 กันยายน เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (http://www.unhcr.org)ได้เผยแพร่ข่าวว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการเสนอเข้ารอบสุดท้ายจากเอเชียสำหรับรางวัล Nansen Refugee Award ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก้ผู้อุทิศตนแก่ผู้ลี้ภัย-คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น นางเพีย พากีโอ รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โดยทั่วไปทราบว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานด้านผู้ลี้ภัย แต่จริงๆ แล้วยังทำเรื่องบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติด้วย ซึ่งรางวัล Nansen เปรียบเหมือนรางวัลโนเบลซึ่งยูเอ็นเอชซีอาร์จัดขึ้นเพื่อมอบให้กับบุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งนางเตือนใจได้ทำงานด้านนี้มานาน 40 ปีและได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนางานด้านนี้จนทำให้จำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติลดลง “การที่รางวัลนี้มอบให้กับคนที่ทำงานไร้รัฐไร้สัญชาติครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากๆ และแสดงให้เห็นว่างานที่คุณเตือนใจทำนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยด้วยเช่นกันที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คืบหน้าเป็นอย่างดี” นางเพีย พากีโอ กล่าว นางเตือนใจกล่าวว่า ขอบคุณทางยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เสนอชื่อให้ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยและรัฐบาลไทย รวมทั้งประเทศต่างๆ
ได้รับรู้ถึงปัญหาของคนไร้รัฐซึ่งเป็นคนที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และคนเหล่านี้ไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่นอน ส่วนคนไร้สัญชาตินั้นคือบุคคลที่มีรายชื่อในสำนักทะเบียนราษฏรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลหรือรับรองสิทธิความเป็นพลเมือง โดยตลอดที่ทำงานมา 40 ปีเชื่อว่าปัญหานี้มีอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่ประเทศไหนจะหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญแค่ไหน ขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากทั้งในเรื่องของกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงต่างๆ แต่ยังมีปัญหาในทางปฎิบัติเนื่องจากบางพื้นที่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้ไปตรวจสอบการร้องเรียน พบว่ามาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่มีความแตกต่างกัน แม้บางอำเภอมีทัศนคติที่ดี แต่บางอำเภอก็ยังมีปัญหา นางเตือนใจกล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือปัญหาในเชิงโครงสร้างเพราะมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่กฎหมายยังไม่ได้พัฒนาไปถึงสถานะของเขา เช่น คนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 30-40 ปีจนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีลูกหลานเป็นคนไทยหมดแล้ว แต่คนเฒ่าเหล่านี้กลับถูกทอดทิ้งไว้ โดยมีผู้เฒ่าที่เป็นคนไร้รัฐจำนวนหนึ่งและผู้เฒ่าไร้สัญชาติอีกประมาณ 8 หมื่นคนในประเทศไทย เช่นเดียวกับเด็กๆที่เรียกว่าเด็กติดจีคือมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลอีกจำนวนไม่น้อย “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเราทำงานคนเดียว แต่เกิดจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอ็นจีโอ นักกฏหมาย ชาวบ้าน รวมถึงแหล่งทุน” นางเตือนใจ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรกับรางวัลนี้ นางเตือนใจกล่าวว่า การได้เป็นตัวแทนได้รับเสนอชื่อถือว่าเป็นโอกาสได้สื่อสารงานด้านนี้สู่สังคมและอาจมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาด้านนี้มากขึ้น แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พัฒนางานด้านนี้ไปมากแต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องอคติและมายาคติเหลืออยู่ เช่น มองว่าคนเหล่านี้เข้ามาแย่งงาน และมีข้อความก่อให้เกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตในบางพื้นที่ซึ่งประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ถูกเรียกเก็บเงิน เมื่อถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานด้านคนไร้รัฐไร้สัญชาติ นางเตือนใจกล่าวว่า เวลาลงพื้นที่พบว่าทุกพื้นที่มีปัญหาเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติจึงไม่อยากให้คนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยิ่งคนไร้รัฐถือว่าสถานะแย่ที่สุดเพราะเหมือนไร้ตัวตน ทั้งนี้ในเอกสารเผยแพร่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ระถึงประวัติรางวัล Nansen Refugee Award ว่า เป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งได้รับการยอมรับว่าได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยรางวัลนี้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2497 โดยตั้งชื่อตาม Fridtjof Nansen นักวิทยาศาสตร์ นำสำรวจขั้วโลกและนักการทูตชาวนอร์เวย์ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) เป็นคนแรก สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลในรอบสุดท้ายทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นสิ่งยืนยันความทุ่มเทและการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยคณะกรรมการอิสระจะเป็นผู้ทำการคัดเลือกผู้เข้าชิงรางวัลในรอบสุดท้ายและผู้ได้รับรางวัล ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลในรอบสุดท้ายจะมาจากภูมิภาคที่แตกต่างกันคือ ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งภายหลังจากการประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้าย 4 คนในวันที่ 10 กันยายนแล้ว จะประกาศชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลในวันที่ 24 กันยายน ซึ่งมีพิธีมอบเหรียญรางวัลที่กรุงเจนีวาในวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงให้นางเตือนใจในวันที่ 12 กันยายน 2561 อนึ่ง นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2495 เป็นบุตรของพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร และนางอุไร เปรมัษเฐียร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาตั้งแต่เป็นนิสิตซึ่งลงพื้นที่หมู่บ้านชาวไทยภูเขาในจังหวัดภาคเหนือตั้งแต่ พ.ศ. 2514–2517 หลังจากเรียนจบได้เข้าหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2517–2519 โดยเริ่มบทบาท “ครูดอย” ที่หมู่บ้านปางสา ในลุ่มแม่น้ำจัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนชาติพันธุ์ลีซู ลาหู่ จีนยูนนาน อาข่า และเมี่ยน จึงได้แรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้เชื่อมความเข้าใจที่ดีระหว่างพี่น้องชาวเขาและชาวไทยพื้นราบ พ.ศ. 2520-2527 ได้ร่วมงานกับกระทรวงศึกษาธิการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขาและหลักสูตรการศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ได้รับรู้ปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่เพิ่มขึ้นในชุมชนชาวเขาภาคเหนือ ในปี 2528 ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ส่งเสริมด้านการศึกษา เกษตรยั่งยืน และปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เริ่มก่อตั้งองค์กรศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศอข.) เพื่อความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชนชาวเขา สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมการปกครอง จึงเกิดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาพืชเสพติดบนพื้นที่ พ.ศ. 2534-2539 ครูแดงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย ในปี 2543 ซึ่งได้ทำงานกับเครือข่ายชุมชนชาวเขา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชน เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาเด็กไร้สัญชาติโดยเฉพาะตามพื้นที่จังหวัดชายแดน ต่อมาได้ทำหน้าที่สมาชิกภานิติบัญญัติ (สนช.) และได้เสนอพระราชบัญญัติการทำทะเบียนราษฎร์ (ฉบับ 2) พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับ 4) พ.ศ. 2551 รวมถึง พระราชบัญญัติสัญญาติ (ฉบับ 5) พ.ศ. 2555 ทำให้ผู้ประสบปัญหากลุ่มต่างๆ รวมถึงชาวไทยพลัดถิ่น สามารถเข้าถึงสิทธิในการรับรองสัญชาติไทยจำนวนนับแสน นางเตือนใจ โดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้ริเริ่มงานแก้ปัญหา “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นกลุ่มชายขอบกลุ่มท้ายๆ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาสถานะทางกฎหมาย ปัจจุบันนางเตือนใจดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งแต่พ.ศ. 2558จนถึงปัจจุบัน และยังได้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง นางเตือนใจสมรสกับนายธนูชัย ดีเทศน์ อดีตข้าราชการระดับ 9 กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา บ้านปางสา จังหวัดเชียงราย โดยมีบุตร 2 คน คือ นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ และ นายบวร ดีเทศน์ หมายเหตุ-อ่านข่าวเพิ่มเติม http://www.unhcr.org/news/stories/2018/9/5b63141c4/rights-campaigner-fights-thailands-stateless-peoples.html
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19403 .