เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่ว่าการอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นายหล่อดา เชอมื่อกู่ อายุ 73 ปี และนายอาหย่อง เชอมื่อกู่ อายุ 67 ปี สองผู้เฒ่าเชื้อสายอาข่าแห่งบ้านหล่อโย ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย พร้อมด้วยลูก-หลาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เดินทางมายื่นเรื่องเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสารและสอบสัมภาษณ์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย รวมทั้งให้ร้องเพลงชาติไทย นายหล่อดา กล่าวว่าตนเกิดที่ชายแดนฝั่งประเทศพม่าและอพยพข้ามมาอยู่บ้านหล่อโยตั้งแต่อายุ 40 ปีหรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เพราะต้องหนีทหารพม่าซึ่งมักเกณฑ์ชาวบ้านไปเป็นลูกหาบขนอาวุธเพื่อสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยหลังจากปักหลักอยู่ที่บ้านหล่อโยแล้วก็ได้ทำไร่เลี้ยงชีพ และมีลูก-หลาน-เหลนอีก 33 คน ซึ่งทุกคนต่างได้บัตรประชาชนไทยหมดแล้ว แต่ตนและภรรยากลับยังไม่ได้ ซึ่งตอนแรกเมื่อ 2-3 ปีที่เข้ามาอยู่ใหม่ๆ ได้มีการสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูงและตนได้บัตรสีฟ้า แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้ไปขึ้นทะเบียนต่างด้าวโดยบอกว่าอีก 5 ปีจะได้บัตรประชาชนไทย แต่ตนรอมานานก็ยังไม่ได้ “ตอนนี้ลูกหลานหลายคนออกไปทำงานที่เชียงใหม่ เราก็อยากไปเยี่ยมหา แต่ก็ไม่สามารถไปได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน เราอยู่มานานกว่า 30 ปีแล้วก็ไม่ได้ไปไหน อยู่กันแต่แถวๆบ้าน ลูกๆจะพาไปเที่ยวไกลๆหน่อยก็ไปไม่ได้”นายหล่อดา กล่าว ขณะที่นายพิทักษ์พงศ์ เชอมือกู่ ลูกชายนายหล่อดากล่าวว่า
ตนเกิดในประเทศไทยหลังจากที่พ่ออพยพมาอยู่ที่บ้านหล่อโยแล้วจึงได้บัตรประชาชนเมื่อตอนอายุ 15 ปี และทุกคนในบ้านต่างก็ได้บัตรประชาชนหมดแล้วเหลือเพียงพ่อและแม่ซึ่งรู้สึกสงสารมากเพราะได้เลี้ยงดูพวกตนขึ้นมาจนเติบใหญ่และทำงานถึงทุกวันนี้ แต่กลับไม่ได้บัตรประชาชน “ผมอยากพาพวกท่านไปเที่ยวทะเล เพราะท่านไม่เคยไป ผมเคยเป็นไกด์อยู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เลยยอยากให้พวกท่านได้ไปเห็นทะเลสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี ตอนนี้ขาของพ่อก็ไม่ค่อยดี พานั่งรถไปไกลๆก็ไม่ได้ จะพาขึ้นเครื่องบินก็ไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน”นายพิทักษ์พงศ์ กล่าว ด้านน.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการพชภ. กล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เนื่องจากมีอายุมากและใช้ภาษาของตนเองมาโดยตลอด ผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจในสิทธิของตนเอง และไม่มีศักยภาพในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ จากการทำงานของ พชภ. พบว่า โดยอดีตที่ผ่านมาลูกหลานก็ไม่ได้ตระหนักถึงการมีสัญชาติไทยของผู้เฒ่า ไม่มีการพาไปดำเนินการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคล ซึ่งปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้เมื่อมีการต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ การเดินทางออกนอกพื้นที่ ผู้เฒ่าเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิเหมือนกับคนไทยโดยทั่วไป น.ส.เพียรพรกล่าวว่า ในกระบวนการดำเนินการยื่นขอแปลงสัญชาติของผู้เฒ่า ดังกรณีของพ่อเฒ่าบ้านหล่อโย 2 รายนี้ พบว่ากระบวนการมีขั้นตอนมาก ขณะที่ผู้เฒ่าเหล่านี้ก็อายุมากขึ้นทุกวัน การแก้ปัญหาควรเป็นกรณีเฉพาะ ควรมีการพิจารณายกเว้นผ่อนปรนเงื่อนไข โดยหลังจากนี้ พชภ. จะเสนอให้จัดประชุมเพื่อระดมแนวทางในการแก้ปัญหาระดับนโยบาย ร่วมกับภาควิชาการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาให้แก่ผู้เฒ่าไร้สัญชาติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น “ในสังคมไทยยังมีคนเฒ่าไร้สัญชาติอีกหลายหมื่นคน พวกท่านต่างมีส่วนในการพัฒนาสังคมไทยมาทั้งชีวิต ลูกๆหลานๆของท่านก็เป็นกำลังของประเทศไทย ในชีวิตบั้นปลายของพวกท่านก็ควรได้รับการดูแลจากภาครัฐบ้าง สังคมไทยถูกสั่งสอนในเรื่องของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความเมตตา เราจึงควรหาวิธีช่วยเหลือพวกท่านให้สมหวัง”น.ส.เพียรพร กล่าว ด้านดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้เฒ่าเหล่านี้เป็นคนซึ่งคาดว่าเกิดนอกประเทศ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานจนกลมกลืนกับสังคมไทย โดยวิธีปฎิบัติของรัฐไทยควรรับรองความเป็นไทยให้พวกเขาซึ่งกรณีผู้เฒ่าที่เกิดนอกประเทศคงต้องแปลงสัญชาติ แต่ถ้าเกิดในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2499 ก่อนมีกฎหมายทะเบียนราษฏร ใช้ข้อสันนิษฐานว่าเป็นคนไทยได้ไปเลย อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอกระบวนการ ผู้สูงอายุเหล่านี้ควรได้รับการดูแลสิทธิอันจำเป็น เช่น หลักประกันสุขภาพ พวกเขาควรได้อยู่กับลูกหลานและมีกระบวนการรับรองสิทธิให้ได้เดินทางอย่างสะดวก มิใช่มีเงื่อนไขหรือขั้นตอนมากมาย “จริงๆแล้วการแปลงสัญชาติไม่ควรใช้เวลานาน ถ้าทำตามกฎหมาย แต่ปัญหาคือเมื่อยื่นแล้ว ทางอำเภอไม่ค่อยออกใบรับคำร้อง เพราะอำเภอต้องตอบให้ได้ว่าเขามีคุณสมบัติหรือไม่ บางอำเภอเอาไปหมกไว้เป็นปีๆ ตรงนี้คือปัญหา หากมีคุณสมบัติครบแล้ว ทางอำเภอก็ต้องส่งให้จังหวัด และจังหวัดส่งต่อไปให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ ถ้าไม่ผ่านการพิจารณก็ต้องมีเหตุผลตอบชาบ้านด้วย”ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19366 .