เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ในจังหวัดประจวบฯ และระนองภายหลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นว่า พวกเขายังคงได้รับความลำบากเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะมีการแก้ไขกฏหมายสัญชาติคืนสิทธิให้กับชาวบ้านที่เป็นคนไทยพลัดถิ่นมาตั้งแต่ปี 2555 หรือ 6 ปีแล้วก็ตาม แต่การพิจารณาคืนสถานะคนไทยยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปเก็บข้อมูลคือที่บ้านไร่เคราซึ่งอยู่ติดกับด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบฯโดยชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพกลับมาจากฝั่งมะริด-ตะนาวซึ่งปัจจุบันเป็นดินแดนประเทศพม่า โดยบางคนข้ามมาอยู่ฝั่งไทยแล้วประมา 30-40 ปี บางคนลูกหลานได้บัตรประชาชนหมดแล้วเพราะเกิดในประเทศไทยหรือแต่งงานกับคนไทย แต่ตนเองยังไม่ได้ ขณะที่มีเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ได้รับบัตรประชาชนเช่นกัน เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ นางหวิน ปลอดโปร่ง อายุ 70 ปี ซึ่งอพยพข้ามมาจากฝั่งตะนาวตั้งแต่พ.ศ.2518
กล่าวว่าปัจจุบันตนยังไม่ได้รับบัตรประชาชนคนไทยเพราะไปขึ้นทะเบียนผิดกลุ่มโดยถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ทำให้ไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิในช่องทางกฎหมายสัญชาติที่คืนสิทธิให้คนไทยพลัดถิ่นได้ ซึ่งตนเองก็ไม่เข้าใจ แต่พยายามยื่นเรื่องไปหลายครั้ง ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข “ฉันเกิดในป่าในดง ไม่รู้เรื่องว่าบัตรอะไรเป็นบัตรอะไร อยู่ฝั่งโน้น(พม่า)เราก็ไม่มีบัตร พอกลับมาอยู่บ้านที่ฝั่งนี้ก็ยังไม่มีบัตรอีก เขาไม่ทำให้สักที จริงๆดั้งเดิมแล้วปู่ฉันเป็นคนจังหวัดอุบลฯก่อนมาอยู่บางสะพานและข้ามไปอยู่ฝั่งนู้น เราก็อพยพข้ามกันไป ข้ามกันมาหลายรอบ” นางหวิน กล่าว ขณะที่น.ส.สุมาลี ประกอบปราณ อายุ 29 ปี ชาวบ้านซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นกล่าวว่า ได้หลบหนีการสู้รบจากบ้านสิงขร เมืองมะริด ฝั่งพม่าเข้ามาอยู่ทีไร่เคราตั้งแต่ปี 2540 อย่างไรก็ตามตนเป็นบุคคลที่ตกสำรวจทำให้ไม่มีบัตรประชาชนมาถึงปัจจุบัน “หนูตกสำรวจ ปัญหาน่าจะเกิดจากการสื่อสาร หลายปีก่อนโน้นตอนที่เขีการสำรวจ ผู้ใหญ่บ้านต้องพาลูกบ้านที่เข้าหลักเกณฑ์ไปขึ้นทะเบียน แต่ไม่รู้อย่างไรหนูไม่ได้ไป เพราะไม่ทราบข่าว เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ตกสำรวจ เราไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ไม่สามารถรับสิทธิอะไรเลย จะเรียนหนังสือ สมัครงาน ไปหาหมอ แม่แต่เดินทางออกนอกพื้นที่ก็ไม่ได้ เหมือนกันคนไร้ตัวตน เป็นคนเถื่อน” น.ส.สุมาลี กล่าว น.ส.สุมาลี กล่าวว่า ทุกวันนี้อยู่ได้แค่ตามละแวกบ้านตัวเอง โดยบางครั้งที่ต้องพาลูกไปสมัครเรียนหรือไปหาหมอก็ต้องวัดดวงเอาอย่าให้เจอตำรวจ และพยายามใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังที่สุด ห้ามป่วยหนัก เพราะเคยเป็นไข้เลือดออก พอโรงพยาบาลรู้ว่าไม่มีบัตรใดๆก็ถูกไล่กลับบ้านเพราะมีเตียงจำกัด ด้านนายภควินท์ แสงคง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ถ้าดูจากตัวเลขแล้วพบว่าการพิจารณาคืนสถานะคนไทยให้กับชาบ้านไทยพลัดถิ่นเป็นไปอย่างช้ามากเนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการโดยเฉพาะในระดับปฎิบัติของเจ้าหน้าที่เพราะไม่ปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้เรื่องของที่ชาวบ้านที่ยื่นไปต้องไปกองอยู่บนอำเภอและจังหวัดในหลายๆพื้นที่ และในบางพื้นที่นายอำเภอก็ไม่ยอมเซ็นเอกสารให้คนไทยพลัดถิ่นมาแล้วถึง 2ปี หรืออย่างกรณีที่จังหวัดระนองก็ให้กลับมาแก้ไขเอกสารใหม่หมด 800 คน “ผมเสนอว่ากระทรวงมหาดไทยควรตั้งหน่วยเฉพาะกิจจากส่วนกลางมาช่วยดูแลชาวบ้านในเรื่องนี้ เพราะในพื้นที่มีปัญหามากมาย แถมยังมีการเลือกปฎิบัติและปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ จนเกิดอคติกับชาวบ้าน แถมที่ผ่านมายังเกี่ยวข้องการกับทุจริตคอรัปชั่นด้วย ซึ่งหากส่วนกลางส่งคนมาทำก็จะไม่ต้องมีปัญหาต่างๆเหล่านี้”นายภควินท์ กล่าว นายภควินท์กล่าวว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการขึ้นทะเบียนและออกบัตรให้กับคนไทยพลัดถิ่นจนกระทั่งมีการร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขณะที่เคยมีการร้องเรียนผ่านไปยังขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)ซึ่งรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการเรียกประชุม เช่นเดียวกับคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งเดิมทีหลังพรบ.สัญชาติฉบับที่ 5 ออกมาก็กำหนดกันไว้ว่าจะประชุมทุกๆเดือน ซึ่งในตอนแรกก็ยังดำเนินการกันเช่นนั้น แต่พอระยะหลังนานๆครั้งจึงมีการเรียกประชุม โดยมีเมื่อปีที่แล้วประชุมไปเพียง 2 ครั้ง และปีนี้ประชุมไป 3 ครั้ง “พอนานๆครั้งประชุมเรื่องต่างๆก็ไปกองสุมกันอยู่ แถมยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อมูลตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยด้วย ทำให้ระดับปฎิบัติไม่กล้าตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายภควินท์ กล่าว ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งส่งนักศึกษาไปร่วมจัดทำเอกสารให้ชาวไทยพลัดถิ่น กล่าวว่าปัญหาที่ทำให้คนไทยพลัดถิ่นยังได้คืนสัญชาติช้าเนื่องจาก 1.ขณะนี้ตัวเลขจำนวนคนไทยพลัดถิ่นยังมีความแตกต่างกันมากโดยกระทรวงมหาดไทยเชื่อว่ามีอยู่ 1-2 หมื่นคนแต่ตัวเลขขอบองค์กรพัฒนาเอกชนพบว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ถึง 4-5 หมื่นคน ดังนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตัวเลขนี้ 2.มีคนไทยพลัดถิ่นจากฝั่งพม่าปะปนเข้ามาอยู่จริงและจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ซึ่งต้องใช้เวลาโดยหลักการแล้วคือการให้ชุมชนรับรองกันเอง แต่เมื่อผู้นำชุมชนในบางพื้นที่มีปัญหาในเรื่องการเรียกรับเงินจึงทำให้กระบวนการมีปัญหา 3.ข้อมูลเอกสารและแบบฟอร์มต่างๆที่กระทรวงมหาดไทยวางไว้ ปรากฏว่าในแต่ละพื้นที่นั้นใช้ไม่เหมือนกัน แม้แต่ภายในอำเภอเดียวกัน ครั้งหนึ่งใช้แบบหนึ่ง แต่พอเวลาเปลี่ยนก็ใช้อีกอย่างหนึ่ง 4.มีกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สำนักงานทะเบียนราษฏร์ควรจัดทีมลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา อย่าไว้ใจพื้นที่มากเกินไป
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19339 .