วันที่ 21 ก.ค.61 ที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติอาจารย์สราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินปั้นมือหนึ่ง พร้อมกับศิลปินชาวเชียงรายหลายคนมารับโฟมต้นแบบรูปปั้นนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่ายแซม อดีตทหารเรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือหน่วยชีล ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาดามีแม่สายจำนวน 13 คน ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย
โดยโฟมต้นแบบส่งมาจากร้าน เอฟซ่ากัดโฟม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อให้ศิลปินชาวเชียงรายได้ใช้ปั้นเป็นต้นแบบเพื่อหล่อด้วยโลหะบรอนด์สำหรับนำไปตั้งหน้าหน้าหอศิลป์ภายในวนอุทยานดังกล่าว โดยอาจารย์สราวุฒิได้จัดเตรียมดินน้ำมันอย่างดี อุปกรณ์ปั้น และชุดประดาน้ำครบรูปแบบของนาวาตรีสมานเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการปั้นให้เป็นดินน้ำมันอย่างเต็มรูป ซึ่งทุกคนที่พบเห็นถังอ๊อกซิเจนซึ่งมีน้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม ก็ตกใจเพราะ จ่าแซมต้องแบกเข้าไปในถ้ำ 3 ถังเหมือนหน่วยชีลคนอื่นๆ ที่ต้องแบกเข้าไปคนละ 3 ถังเพื่อปฏิบัติการดังกล่าว
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าหลังจากได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้วทางศิลปินก็ได้เริ่มดำเนินการสร้างรูปปั้นโดยทันทีโดยอาจารย์สราวุฒิได้ปั้นตัวแบบและส่งไปยังทำโฟมต้นแบบที่ จ.นครปฐม นับจากนี้จะเป็นขั้นตอนการนำดินน้ำทำการปั้นขึ้นรูปโดยจะมีการเพิ่มเติม ตัดต่อและตกแต่งให้มีความสวยงาม พอดี สมจริงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะต้นแบบครั้งแรกที่ทำขึ้นมีเวลาจำกัดจึงใช้เวลาทำอย่างรวดเร็วทำให้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร โดยการปั้นด้วยดินน้ำมันจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนด้วยการระดมศิลปินไปทำวันละอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 สัปดาห์หมุนเวียนกันโดยมีอาจารย์สราวุฒิรับผิดชอบคุมงาน จากนั้นจะส่งไปยังร้านเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำแบบพิมพ์ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วันก่อนจะทำการหล่อโลหะใช้เวลาอีกประมาณ 4 เดือนแล้วจึงยกไปตั้งที่หน้าศาลาภายในวนอุทยานตามรูปแบบ
รูปปั้นจะสูงประมาณ 2.60 เมตรไม่รวมฐาน โดยฐานและส่วนประกอบด้านล่างจะสูงประมาณ 3.50 เมตร ทำให้ทั้งหมดจะมีความสูงจากพื้นประมาณ 5.10 เมตร โดยตั้งอยู่หน้าหอศิลป์ที่มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 20 เมตร และมีห้องน้ำชายและหญิงยาวประมาณ 10 เมตรแยกกันเป็น 2 อาคาร ภายในศาลาก็จะนำภาพวาดยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตรไปจัดแสดง โดยปัจจุบันภาพดังกล่าวยังคงวาดไปเรื่อยๆ เพราะได้มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เข้าไปปฏิบัติที่ถ้ำหลวงทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ หน่วยชีล ฯลฯ เพื่อให้รายละเอียดของภาพคือการปฏิบัติการที่แท้จริง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงตัดภาพบางส่วนออกและเพิ่มเติมลงไปทำให้ยังไม่นิ่งพอและแก้ไขกันไปเรื่อยๆ
สำหรับโครงก่อสร้างหอศิลป์และรูปปั้นจ่าแซมจะไม่รับเงินบริจาคจากผู้ใดทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลังโดยเฉพาะมักมีการพูดโอ้อวดทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาว่าได้บริจาคเงินจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนไประดมเงินจากชาวบ้านมาสร้างใช้งบประมาณเป็น 100 ล้านแล้วก็นินทากันไปต่างๆ นานาทำให้ตนเสียหาย ดังนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะเงินเท่านั้นแต่รวมถึงปูน หิน ดิน ทราย หรืออื่นๆ ตนก็จะไม่ขอรับบริจาค แต่หากมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น เอฟซ่ากัดโฟมที่ จ.นครปฐม หรือร้านเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ว่าจ้างให้ทำแล้วกลับไม่รับเงินแล้วยังนำมาส่งและติดตั้งให้ถึงที่ จ.เชียงราย โดยระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย ก็จะยอมและขอขอบคุณด้วยเป็นอย่างยิ่ง
ด้านอาจารย์สราวุฒิ กล่าวว่าการจัดทำรูปปั้นจ่าแซมดังกล่าวพบว่ามีคนเข้ามาช่วยกันมาก โดยตนทำหน้าที่ปั้นต้นแบบใช้เวลาแค่ 1 คืนแล้วเสร็จราวๆ 05.00 น.ซึ่งไม่รู้ว่าทำได้อย่างไรแต่ทำเพราะมีแรงบันดาลใจ จากนั้นเมื่อเตรียมดินน้ำมันด้วยการต้มที่บ้านปรากฎว่าชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็กพากันมาช่วยเป็นจำนวนมากเพราะต้องใช้ดินน้ำมันกว่า 1 ตันจะเสร็จสมบูรณ์ ส่วนร้านเอฟซ่ากัดโฟมที่ตามปกติต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ 60,000-70,000 บาทก็ไม่คิดเงินโดยทำให้ฟรีและยังขนมาติดตั้งให้ถึงที่ด้วย เช่นเดียวกับร้านหล่อโลหะที่ใช้ต้นทุนอย่างต่ำ 4-5 ล้านบาทด้วย หรือแม้แต่การปั้นที่ จ.เชียราย ศิลปินก็แวะเวียนไปช่วยซึ่งถือได้ว่าทุกฝ่ายช่วยกันเพื่ออุทิศให้จ่าแซมอย่างแท้จริง
สำหรับรูปแบบของรูปปั้นจ่าแซม อาจารย์เฉลิมชัยได้แจ้งประชาสัมพันธ์ขอให้เป็นไปตามแนวความคิดและสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยตัวเองโดยไม่อยากให้ผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่รู้จักเรื่องศิลปะโดยอาจารย์เฉลิมชัยและทีมงานรับจะดำเนินการเองโดยยืนยันในความงดงาม และจะให้ผู้ที่มีสติปัญญาในการมองงานศิลปะได้เห็นว่ามีความสุดยอดแน่นอนรวมทั้งไม่ต้องการให้ผู้ไม่รู้ออกมาวิพากษ์วิจารย์โดยอาจารย์ยืนยันด้วยผลงานระดับโลกที่ผ่านมา
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/760246