น่าอัศจรรย์ยิ่ง” 3 พระอริยสงฆ์” ชื่อดัง นักบุญแห่งล้านนา ละสังขารสรีระร่างทองคำ ไม่เน่าไม่เปื่อย

“ครูอภิชัยเจ้าอภิชัยขาวปี”เดิมชื่อ”จำปี” เกิดเมื่อจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2443 เป็นบุตรของพ่อเม่า และแม่จันตา หล้าแก้ว เป็นชาวบ้านเชื้อสายลัวะ บ้านแมเทย อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่ออายุได้ 16 ปี มารดานำไปฝากบวชเป็นสามเณร กับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง เมื่ออายุครบ 22 ปี ได้บวชเป็นพระภิกษุมีฉายาว่า”พระอภิชัย” เป็นพระนักพัฒนา ได้ก่อสร้างปฎิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย วางไว้ ในแถบ อ.ลี้ แม่ทา บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ใน จ.ลำพูน แล้วยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนาทั้งในเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ตาก สุโขทัย และยังข้ามเขตแดนพม่า แถบลุ่มน้ำสาละวินอีกด้วย

ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ 3 ครั้ง ครองผ้าขาวอย่างชีปะขาว 3 ครั้ง อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ครั้งแรกโดยครูบาศรีวิชัย เมื่ออายุได้ 22 ปี ที่วัดบ้านปาง ได้สมญานามว่า “อภิชัยภิกขุ” ช่วยครูบาศรีวิชัย สร้างกุฎีที่วัดบ้านปาง จนอายุได้ 35 ปี ถูกจับสึกจากผ้าเหลืองไปห่มผ้าขาว ด้วยความผิดตามพ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.124 (2448) บังคับใช้ และต้องติดคุก 6 เดือน ที่คุก จ.ลำพูน เมื่อพ้นโทษออกจากคุกแล้ว ท่านได้เดินทางไปกราบครูบาศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์

ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 โดยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เป็นอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.2465 ขุนระมาดไมตรี กำนันคนแรกแห่ง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ปรารถนาจะได้พุทธรูปหินอ่อน มูลค่า 800 บาท จึงได้นิมนต์ครูบาอภิชัย ไปเป็นประธานสร้างฝ่ายสงฆ์ แต่ปรากฎว่าเงินไม่พอถึง 700 บาท ท่านจึงบอกบุญไปตามศรัทธา แต่มีการร้องเรียนว่าท่านเรี่ยไรเงิน อันเป็นการผิดระเบียบสงฆ์ เจ้าคณะจังหวัดจึงจับท่านสึกเป็นครั้งที่ 2 ท่านกลับมานุ่งห่มสีขาวอีกครั้ง

ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี

ต่อมาไม่นาน ขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย กำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ครูบาขาวปี จึงพากะเหรี่ยง 500 คน ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นดอยสุเทพ ร่วมกับอาจารย์จนแล้วเสร็จ จึงกลับลงมาพักกับ      อาจารย์ที่วัดพระสิงห์ ที่วัดพระสิงห์นี้ ท่านครูบาศรีวิชัย ก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ 3 การอุปสมบทครั้งนี้ ถูกดึงไปเป็นเหตุผลหนึ่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัย ต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ด้วยข้อหาว่าทำการอุป สมบทให้แก่ “ผ้าขาวปี๋ หรือหนานปี๋ ซึ่งคณะสงฆ์ประกาศห้ามมิให้อุปสมบท

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เดินทางไปต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ครูบาอภิชัยขาวปี อยู่รักษาวัดพระสิงห์ แต่เพียงผู้เดียว มหาสุดใจ วัดเกตุการาม กับพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่ง ถือโอกาสมาข่มขู่ให้ครูบาอภิชัยขาวปี สึกเสีย เพราะมิฉะนั้นทางการจะเอาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้ติดคุกจนถึงที่สุด ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ ท่านจึงเสียสละผ้ากาสาวพัสตร์ ยอมสึกเป็นชีปะขาว และนับเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการครองผ้าไตรจีวรของท่าน

“ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี” ถือได้ว่าเป็นศิษย์เอกของ” ครูบาเจ้าศรีวิชัย” และท่านได้ละสังขารเมื่อวันพฤหัสที่ 3 มีนาคม 2520 สิริรวมอายุได้ 89 ปี ทุกวันนี้ได้เก็บพระสรีระร่างอันไม่เปื่อยไม่เน่า ของท่านไว้ ณ โลงศพแก้ว ในหอปราสาทรักษาศพ จัดสร้างให้โดยครูบาวงค์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) เพื่อเก็บพระสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปี ที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 3 มีนาคม

หลวงพ่อเกษม เขมโก

“หลวงพ่อเกษม เขมโก”แห่งสุสานไตรลักษณ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 บิดาชื่อ เจ้าหนูน้อย มณีอรุณ มารดาชื่อ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปางอายุ 15 ปี ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง กระทั่งในปี พ.ศ.2475 สามเณรเกษม ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบุญยืนโดยมี พระธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร เจ้าคณะอำเภอขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “เขมโก”แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

หลวงพ่อเกษม เขมโก

ในปี พ.ศ.2479 พระภิกษุเขมโก ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ รวมทั้งสนใจศึกษาเล่าเรียนบาลีควบคู่กันไปด้วย เรียนรู้จนสามารถเขียนและแปลภาษามคธได้เป็นอย่างดี เมื่อเรียนปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติธรรมจนแตกฉาน โดยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญ ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง โดยได้ติด ตามพระอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนาเรื่อยมา ท่านถือปฏิบัติเช่นนี้จนภายหลังได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน เมื่อปี พ.ศ.2492 ก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ปลีกวิเวกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่า ช้าต่างๆ ทั่ว จ.ลำปาง ก่อนมาปักหลักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ป่าช้าประตูม้า หรือสุสานไตรลักษณ์ ปัจจุบัน จนละสังขาร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 รวมสิริอายุ 84 ปี

“วันที่ 28 พ.ย.”ทุกปีเป็นวันคล้ายวันเกิดของ หลวงพ่อเกษม เขมโก สานุศิษย์จากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้สรีระทองคำที่บรรจุในโลงแก้ว ณ มณฑปอาคารทรงไทยประยุกต์ สุสานไตรลักษณ์ จัดมีการทำ บุญอุทิศส่วนกุศล มีผู้คนมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น

หลวงปู่ครูบาวงศ์

และหลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือพระครูบาชัยยะวงษาพัฒนา เกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะยากจน นามเดิมชื่อ ด.ช.ชัยวงศ์ ต๊ะแหงม เกิดเมือวันอังคาร ที่ 22 เม.ย. 2456 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้) ปีฉลู ณ ที่บ้านก้อหนอง หมู่ 2 ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน บิดาพ่อน้อยจันทะ- แม่บัวแก้ว ต๊ะแหงม เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน เมื่ออายุได้ 12 ปี ด.ช.ชัยวงศ์ ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดก้อท่า หรือวัดแม่ปิงเหนือ

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2468 ตรงกับวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ(เดือน 6 ใต้) ณ วัดแก่งสร้อย ต.มืดกา อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยมีพระครูบาชัยลังกา เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งชื่อให้ว่า”ชัยยะลังก๋าสามเณร” และเป็นศิษย์อีกรูปหนึ่ง ที่เจริญรอยปฏิบัติธรรมตามแนวหลักของครูบาเจ้าศรีวิชัย หลวงปู่ครูบาวงศ์ เมื่อครั้งยังมีชีวิตนอกจากจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในด้านศีลาจริยาวัตร ที่ดีงามแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความเชียวชาญ ทางด้านเป็นช่างสถาปนิก ก่อสร้างทั้งงานปูนและงานไม้

หลวงปู่ครูบาวงศ์

หลวงปู่ครูบาวงศ์ มรณภาพเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2543 ซึ่งตรงกับ(วันวิสาขะบูชา) รวมสิริอายุได้ 87 ปี 67 พรรษาในทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบ การมรณภาพ”17 พ.ค.” จะมีการทำบุญพิธีเปลี่ยนผ้า ห่มสรีระร่างทอง คำของท่าน

 

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์  http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/728400

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *