รัฐบาล NLD เอาจริงลงโทษทางวินัยข้าราชการครูรับสินบนกว่า 1,000 คน พบ 103 คนถูกไล่ออก

กระทรวงศึกษาธิการของพม่าได้ออกมาประกาศว่า ได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ข้าราชการในสถานศึกษาจำนวนมากกว่า 1,100 คน หลังจากมีการตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับการติดสินบน มีการทำผิดทางการเงิน และมีพฤติกรรมสร้างภาระให้กับผู้ปกครอง โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับโทษหนักเบาตามความผิด โดยมีข้าราชการจำนวน 103 คนที่ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว หลังพบกระทำความผิดร้ายแรง นายอูเมียวเต็งจี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของพม่าออกมาเปิดเผยว่า มีข้าราชการในสถานศึกษาจำนวน 1,171 คน ได้ถูกลงโทษทางวินัย โดยมี 644 คน ถูกลงโทษในปีการศึกษา 2559 – 2560 และอีก 527 คน ในปี 2560 – 2561 ทางด้านนายอูซอวิน อธิบดีกรมการศึกษาขั้นพื้นฐานเผยอีกว่า ข้าราชการจะได้รับโทษตามที่กระทำความผิด โดยทางกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการลงโทษทันทีเมื่อพบเจ้าหน้าที่กระทำผิดศีลธรรมและยักยอกเงินเป็นต้น

โดยยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ข้าราชการสถานศึกษาต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในการเข้าศึกษาเล่าเรียน และไม่รบกวนหรือสร้างภาระให้กับผู้ปกครอง แต่หากพบเจ้าหน้าที่ละเมิดคำสั่งก็จะต้องถูกลงโทษ เช่นเดียวกับนายอูเต็งวิน อธิบดีกรมอุดมศึกษาเปิดเผยว่า จะมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่กระทำความผิดทั้งจากภายในและภายนอก หากได้รับการร้องเรียน ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 1,171 คน ได้รับการลงโทษทางวินัยตามการกระทำความผิด เช่น จำนวน 743 คน ได้รับจดหมายเตือน เจ้าหน้าที่ 49 คน ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือบางส่วนถูกพักราชการชั่วคราวและถูกไล่ออกเป็นต้น ขณะที่การเปิดให้นักเรียนลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใหม่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในเมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้ง โดยการเปิดเรียนภาคการศึกษาใหม่ของนักเรียนในพม่าจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมา ประเทศพม่าถูกยกว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชีย และในยุคใต้อาณานิคมของอังกฤษ ยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของทหาร ได้มีการตัดงบประมาณด้านการศึกษา รวมทั้งใช้ระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำตามตำราเรียน เพื่อไม่ให้นักเรียน นักศึกษาขึ้นมาท้าทายอำนาจทหาร เช่นเดียวกันในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงการศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านการทหาร พบว่ารัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียง 1.3 % ขณะที่กองทัพได้รับงบประมาณถึง 40 % ในอดีตนั้น แม้รัฐบาลจะประกาศให้เรียนฟรี แต่ด้วยเหตุที่มีการจัดงบประมาณให้กระทรวงศึกษาเพียงน้อยนิด ทางโรงเรียนจึงต้องเรียกเก็บค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพิเศษอื่น ๆ จากนักเรียนอยู่เสมอ เด็กนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนภายใต้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในพม่า ไม่อาจแบกรับภาระดังกล่าวได้ เป็นเหตุให้นักเรียนจำนวนมากต้องออกโรงเรียนกลางคันโดยเฉพาะในชั้น ป.4 ขณะที่บุคลากรครูในพม่าตอนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือข้าราชการครูที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล และครูที่ได้รับการสรรหาจากคนในพื้นที่ เพราะในบางพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะในเขตชนบท รัฐบาลไม่มีเงินจ้างครูมาสอน ส่งผลให้ชุมชนต้องเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ โดยการหาครูในพื้นที่มาสอนให้กับเด็ก ๆ และเรี่ยไรเงินเป็นค่าตอบแทนครู แต่ปัญหาที่พบก็คือ ครูจากในพื้นที่บางส่วนไม่ได้จบชั้นมัธยมปลาย และได้รับการอบรมในการสอนในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น ขณะที่ข้าราชการครูทั่วไปได้รับเงินเดือนน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่แพงลิ่ว จึงทำให้ครูจำนวนมากลาออกจากอาชีพนี้ไปทำงานอย่างอื่น หรือแม้กระทั่งเดินทางไปหางานทำในต่างประเทศ หรือครูบางส่วนมีพฤติกรรมเรียกรับสินบนจากผู้ปกครอง นอกจากนี้ สงครามการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มาหลายสิบปีได้ปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เป็นจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยและไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานชื่อ Displaced Childhoods ชี้ว่า ในช่วงปี 2545 – 2552 เฉพาะภาคตะวันออกของประเทศพม่าเพียงแห่งเดียว มีประชาชนที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงครามกลางเมืองกว่า 580,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 190,000 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เด็กชายจำนวนมากยังถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ทั้งจากกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลังเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาล NLD ประกาศจะปฏิรูปการศึกษาในประเทศทั้งระบบ โดยกรอบระยะเวลาการปฏิรูปการศึกษาในพม่าจะมีไปจนถึงปี 2021 ที่มา Myanmar Times/Salween Post แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19032 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *