เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน (โรคกาโนเดอร์ม่า)
วันนี้18 พฤษภาคม 2561 นางระนอง จรุงกิจกุล เกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในจังหวัดกระบี่ พบว่าในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีการเข้าทำลายของโรคโคนลำต้นเน่า และเริ่มระบาดมากกับต้นปาล์มน้ำมันอายุ 10 – 15 ปี (ระบาดในต้นที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ) ซึ่งโรคโคนลำต้นเน่ามีสาเหตุมาจากเชื้อรา Ganoderma (กาโนเดอร์ม่า) โดยเชื้อราจะเข้าทำลายที่รากเข้าสู่โคนต้น หากมีการเข้าทำลายประมาณครึ่งหนึ่งของลำต้น จะแสดงอาการให้เห็นทางใบ การเน่ามีผลทำให้ไปบล็อคทางลำเลียงอาหารและน้ำในต้นพืช ทำให้อาการเหมือนกับอาการขาดน้ำ และขาดธาตุอาหารของพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่
จึงขอแจ้งให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปาล์มน้ำมันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคลักษณะอาการ อาการภายนอกที่พบคือใบมีสีซีดจางกว่าปกติ ทางแก่ล่างจะหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบ ๆ ลำต้น ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นกับฤดูกาล ทางยอดที่ยังไม่คลี่มีจำนวนมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันภายในลำต้นปาล์มน้ำมันถูกทำลายไปถึง 50 % ต้นจะตายภายใน 2 – 3 ปี โดยต้นจะหัก หรือล้มลง โรคนี้ทำให้เกิดการเน่าแห้งของเนื้อเยื่อที่ฐานของต้น เมื่อตัดต้นเป็นโรคตามขวางจะเห็นเนื้อเยื่อบริเวณที่เน่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มรูปร่างไม่แน่นอนเกิดสลับกันอยู่ และที่ขอบแผลมีบริเวณสีเหลืองใสกั้นระหว่างส่วนที่เป็นโรคและส่วนที่ผิดปกติ รากมีลักษณะกรอบ เนื้อเยื่อภายในแห้งเป็นผง ลักษณะของดอกเห็ด สร้างขึ้นที่บริเวณฐานของลำต้น หรือรากบริเวณใกล้ลำต้น ดอกเห็ดที่พบครั้งแรกมีสีขาวขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายโตขึ้นมีสีน้ำตาลแดงมีสีขอบสีขาวผิวด้านบนเรียบเป็นมันคล้ายทาด้วยแลคเกอร์ ผิวด้านล่างมีสีขาวขุ่นเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่สร้างสปอร์สีน้ำตาลเป็นผงเล็ก ๆ กระจายไปทั่วบริเวณใกล้เคียง โรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันนี้พบว่าเคยมีการระบาดสร้างความเสียหายแก่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมาแล้วแพร่กระจายโดยสปอร์ที่ปลิวไปในอากาศ หรือ รากที่ไปสัมผัสกับดินที่มีเชื้อ ดอกเห็ดโรคโคนลำต้นเน่าโพรงที่เกิดจากการเข้าทำลาย
ดังนั้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำดังนี้ ในการเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ให้กำจัดซากต้นปาล์มเก่าและทำความสะอาดเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อเห็ดที่ติดอยู่กับซากพืช และพื้นที่ควรจัดการให้มีการระบายน้ำให้ดี
สำหรับเกษตกรที่มีข้อส่งสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ 075-611649
แหล่งข่าวจาก – ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง /กระแสใต้ รายงาน