ผบ.สส.พม่าลั่นไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายสั่งดำเนินคดีทหารใต้บังคับบัญชาที่ทำผิด-การสู้รบในรัฐคะฉิ่นยังหนักหน่วง ยูเอ็นวอนเร่งช่วยเหลือเหยื่อสงครามกว่า 2 พันคน

ระหว่างเยือนโรงเรียนทหารแห่งหนึ่ง ทางภาคเหนือของประเทศ พลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าได้ขึ้นกล่าวว่า ทหารพม่าในประเทศทุกคนจะต้องเคารพกฎหมายในประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยยกตัวอย่างของชะตากรรมทหารพม่า 7 นาย ที่ก่อเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ทางภาคตะวันตกของประเทศซึ่งต้องถูกจำคุกคนละ 10 ปี และใช้แรงงานหนัก พลเอกมิ้นอ่องหล่ายกล่าวว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และใครที่ละเมิดและไม่เคารพกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยทางผู้นำทหารของกองทัพพม่ายังได้ยกเอาเหตุุการณ์สังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ที่หมู่บ้านอินดิน ในรัฐอาระกัน เมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่งก่อเหตุโดยทหารพม่าในสังกัด ต่างก็ถูกดำเนินคดีให้รับโทษตามความผิดคนละ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม 2 นักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ออกมาเผยแพร่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับถูกทางการพม่าจับกุมตัวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ คือนายวาโลน วัย 32 ปี และนายจ่อโซอู วัย 28 โดยกำลังถูกตั้งข้อหาเผยแพร่เอกสารลับของประเทศ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ในช่วงต้นเดือนกันยายนของปีที่แล้ว มีชาวโรฮิงญาจำนวน 10 คน ถูกแขวนคอและถูกยิงเสียชีวิตโดยชาวพุทธและทหารพม่า โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาของกองทัพพม่า กองทัพพม่ายังถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งการฆ่าสังหาร ข่มขืน เป็นต้น เพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่โจมตีสถานีตำรวจพม่าเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ขณะที่ปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา เป็นผลทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 7 แสนคนตัดสินใจทิ้งพม่าข้ามไปยังชายแดนบังกลาเทศ จนทำให้ทั้งสหประชาชาติและสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ทางการพม่าได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เช่นเดียวกับทางพลเอกมิ้นอ่องหล่ายอ้างว่า ปฏิบัติการทางทหารในรัฐอาระกันเป็นเพียงการตอบโต้กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์สู้รบในรัฐคะฉิ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เมืองผากั้นและที่เมืองทาไน ล่าสุดหน่วยงานสหประชาชาติประจำในพม่าได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการช่วยเหลือเหยื่อสงครามอย่างเร่งด่วน รวมถึงอพยพผู้ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ผู้อพยพหนีภัยจากสงครามกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งมีทั้งที่กำลังตั้งครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุและเด็ก รวมไปถึงคนป่วย โดยคนเหล่านี้กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและควรได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันมีรายงานว่าที่หมู่บ้านคะส่อน เมืองน้ำตี ในรัฐคะฉิ่น กองทัพพม่าได้โจมตีในพื้นที่อย่างหนัก แต่บอกให้ชาวบ้านไม่ต้องอพยพออกไปจากหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านได้ตัดสินใจไปอาศัยหลบภัยชั่วคราวที่โบสถ์อีกหมู่บ้านหนึ่ง ขณะที่บางส่วนหนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงรัฐคะฉิ่น แทนที่ทางการจะเร่งให้การช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามกลับส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองไปตรวจผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ที่โบถส์แทน เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีสมาชิกของทหารคะฉิ่น KIA แฝงตัวอยู่กับชาวบ้าน โดยชาวบ้านต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ยังเรียกตรวจสอบชาวบ้านเป็นรายบุคคล ทางด้านโฆษกของ KIA เปิดเผยว่า ยังมีเหตุสู้รบเกิดขึ้นที่เมืองไลซา ฐานที่มั่นบัญชาการใหญ่ของ KIA และยังต้องสละฐานที่มั่นใหญ่ในเมืองทาไน เพราะถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนัก ——————- ที่มา Myanmar Times/DVB แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18817 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *