บทบรรณาธิการ : วิน-วิน

การลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับอาลีบาบา กรุ๊ป พร้อมกับการมาเยือนไทยของนายแจ๊ก หม่า สร้างสีสันและบรรยากาศทางเศรษฐกิจไทยไม่น้อย โดยเฉพาะแผนปูทางสู่การค้าขายด้วยระบบดิจิตอลทางโลกออนไลน์ ช่องทางการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ

รวมถึงแผนงานการลงทุนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์

ผลงานการขายทุเรียนจากไทยได้ 80,000 ลูก ภายใน 60 วินาที หลังการลงนามในข้อตกลงให้อาลีบาบาเป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนหมอนทองกับรัฐบาลไทย ยังเป็นนิมิตหมายอันดี

อาจทำให้เกิดความคาดหวังแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าความตื่นเต้นนี้จะมีมากยิ่งขึ้นหรือไม่ หากประชาชนคนทั่วไปรับรู้หรือสัมผัสได้ถึงสิ่งที่จะได้รับจากความร่วมมือแบบวิน-วิน

จากที่รัฐบาลระบุว่า การจับมือครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้คนที่อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาสให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่จีนเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อของคนชั้นกลางมากกว่า 300 ล้านคน

แต่ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนยังไม่มีตัวแทนจากการเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่างแผนงานของรัฐกับประชาชนจึงยังไม่เกิดขึ้น ความรู้สึกร่วมจึงไม่เข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น

ย้ำถึงความสำคัญที่ประชาชนต้องมีรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่มาจากการตัดสินใจของประชาชนเอง

ช่วงเวลาเฟื่องฟูของเศรษฐกิจไทยล้วนอยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยของประเทศแข็งแกร่ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีฝ่ายค้านที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

นอกจากเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศแล้ว สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

การไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจกระจายตัวไปถึงกลุ่มเกษตรกร ไม่ได้กระจุกเฉพาะผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง อยู่แล้ว

หากต้องการให้เกิดความร่วมมือแบบวิน-วิน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีรัฐบาลของประชาชน

 

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – ข่าวสด   https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_993545

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *