ทางการพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษรอบใหม่จำนวน 8,490 คน หลังเทศกาลตะจ่าน หรือเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่า มีนักโทษการเมืองจำนวน 36 คน ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ด้วย ซึ่งในจำนวนนี้ยังพบว่ามีทหารในสังกัดของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ได้รับอิสรภาพด้วยเช่นกัน ภายหลังถูกคุมขังอยู่ในคุกเป็นเวลานานกว่า 13 ปี โดยทางการพม่าจะปล่อยตัวนักโทษทั่วประเทศอยู่เสมอ ๆ ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เหมือนเช่นปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัว มีทั้งบาทหลวงชาวคะฉิ่น 2 คน ที่ถูกทหารพม่าจับกุมไปเมื่อปีที่แล้ว หลังถูกทหารพม่ากล่าวหาว่า เชื่อมโยงกับกลุ่มผิดกฎหมาย รวมทั้งยังมีพระนักเคลื่อนไหวจากรัฐอาระกันได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ด้วย
ด้านประธานาธิบดีวินมิ้น กล่าวว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ เนื่องในโอกาสวาระปีใหม่ของพม่า และเพื่อเห็นแก่หลักมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามนายโบจี จากองค์กร AAPP ที่ทำงานช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุว่า แม้เขาจะยินดีที่ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ก็ยังอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลของนางซูจี ให้เร่งปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่ ซึ่งเชื่อว่ายังมีนักโทษการเมืองที่กำลังรอการพิจารณาคดีและถูกคุมขังอีกเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของพม่าได้แนะให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษที่ทำผิดเล็กน้อยในคดียาเสพติด โดยให้เหตุผลว่า เรือนจำของพม่าไม่เพียงพอกับจำนวนนักโทษ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเผยของทางการพม่าว่า ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ จำนวน 6,362 คน เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่รัฐบาล NLD เข้ามาบริหารประเทศ ได้ดำเนินการนิรโทษกรรมปล่อยตัวนักโทษแล้ว 4 ครั้ง มีนักโทษที่ได้รับการปล่อยแล้วทั้งสิ้น 10,977 คน นักโทษการเมือง 235 คน และนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติอีกจำนวน 124 คน ด้านสื่อไทใหญ่รายงานว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในสังกัดของ RCSS/SSA คือ เจ้าขุนจ่อและลูกน้อง ได้รับการปล่อยตัวด้วยเช่นกัน โดยเจ้าขุนจ่อและทหารใต้บังคับบัญชาจำนวน 31 นาย ถูกจับกุมเมื่อปี 2549 หลังเดินทางจากกองบัญชาการใหญ่ดอยไตแลงไปยังชายแดนรอยต่อรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และประเทศจีนและเกิดเหตุปะทะกับทหารพม่า โดยเจ้าขุนจ่อและลูกน้องถูกทหารพม่ากำลังพล 1,000 นาย ปิดล้อมให้อดข้าวอดน้ำเป็นเวลา 9 – 10 วัน จนเจ้าขุนจ่อและพวกตัดสินใจวางอาวุธและมอบตัวในเขตเมืองน้ำคำ หลังจากนั้นถูกทางกองทัพพม่าจับกุมตัวและถูกตั้งข้อหาทั้งหมด 11 ข้อ เช่น ค้ายาเสพติด สังหารชาวบ้าน บังคับเกณฑ์ทหารเด็ก รวมไปถึงจับปืนลุกขึ้นปฎิวัติ เป็นต้น ซึ่งศาลพม่าเคยตัดสินโทษให้ประหารชีวิตเจ้าขุนจ่อและลูกน้องอีก 29 คน โดยอีก 3 คนตัดสินจำคุกคนละ 7 ปี แต่เจ้าขุนจ่อได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด หลังได้รับการปล่อยตัว เจ้าขุนจ่อได้เดินทางกลังถึงดอยไตแลงแล้ว ที่มา DVB/Tai Freedom แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18813 .