การก่อกองทราย ถวายเจดีย์ตุงในวันปี๋ใหม่เมือง

ก่อกองทราย ถวายเจดีย์ตุงในวันปี๋ใหม่เมือง ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือ เป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่

โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ14 เมษายนของแต่ละปี อย่างไรก็ตามประเพณีปีใหม่เมืองจะกินเวลาประมาณ 4-7 วันยาวนานกว่าสงกรานต์ของ ภาคอื่น ๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันสังขารล่อง วันเนา วันพญาวัน วันปากปี หรือบางท้องที่ก็ไปจบที่วันปากเดือน หรือวันปากวัน ปีใหม่เมืองมีความสำคัญต่อคนล้านนา ในฐานะ

1.เป็นการเปลี่ยนปี คนเมืองจะนับปีตามปีใหม่เมือง พอถึงปี ใหม่จะกลายเป็นอีกปีหนึ่งไม่ใช่ปีเดิม อายุของเราจะเพิ่มขึ้นอีกปี

2.เป็นการเตือนตน และสำรวจตรวจสอบตนเอง เพราะการที่อายุเพิ่มขึ้นจะเป็นการย้ำเตือนให้คนเมืองรู้ถึงการ เปลี่ยนแปลงของวัน วัย และสังขาร นั้นคืออนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา

3. เป็นการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดี ปีใหม่เมืองเป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองได้สำรวจตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ที่ล่วงมา เมื่อพบข้อบกพร่องก็มักจะตั้งจิตตั้งใจสะสางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไป อันใดที่ร้ายก็ขอให้ดับไปกับไฟ ไหลไปกับน้ำ ล่องไป กับสังขาร

4. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ปีใหม่เมืองมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งที่เป็นวัตถุและความ เคลื่อนไหว เช่น เสื้อผ้า ข้าวของ มีความคึกคักเคลื่อนไหวในการต้อนรับปีใหม่ จะเกิดการตั้งใจใหม่ ความหวังใหม่ และ พยายามใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปี๋ใหม่เมืองล้านนา จะมีประเพณีอย่างหนึ่งที่จะต้องทำสืบต่อกันมา ได้แก่ การ ก่อกองทรายถวายเจดีย์ตุง อันเนื่องมาจากเป็นประเพณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้ เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออก จากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็น พุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการ สังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ปัจจุบันประเพณีก่อกองทรายถวายเจดีย์ตุงพบเพียงในประเทศไทยและลาวเท่านั้น วันสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ได้แก่ วันสังขารล่อง วันสังขารล่อง หรือสงกรานต์ล่อง หรือสังขานต์ล่อง ถือเป็นวันส่งท้ายศักราชเก่า คนเมืองจะตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ ก่อนตีนฟ้ายก เช้ามืดจะมีการยิงปืน จุดประทัด เพื่อไล่สิ่งที่ ไม่ดีไปกับสังกรานต์ สาย ๆ จะทำความสะอาดบ้านเรือน บ่าย ชำระล้างร่างกายให้สะอาด

แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ วันเนา หรือวันเน่า เป็นวันที่พระอาทิตย์เนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในทางโหราศาสตร์ คือไม่ดี ไม่ ส่งเสริมสิริมงคล วันนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืด เป็นวันจับจ่ายซื้อของจำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่ มีการเตรียม อาหารคาวหวาน เช่น ขนมจ็อก ห่อนึ่ง แกงฮังเล หรืออื่น ๆ เพื่อจะเอาเป็นทำบุญที่วัดในวันพญาวัน และเอาไปดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงสาย ๆ จะไปชุมนุมกันเพื่อเล่นน้ำปีใหม่

ที่สำคัญมากของวันนี้ คือ เป็นวันขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นการก่อพระเจดีย์ ทราย ขนมที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่ได้แก่ ขนมจ็อก ขนมชั้น ขนมเกลือ ขนมตายลืม ขนมลิ้นหมา ขนมวง และขนมกล้วย วันพญาวันหรือพระญาวัน เป็นวันที่มีความหมายต่อคนเมืองมาก เป็นวันยอดม้อน เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี มี กิจกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิต ความเชื่อในพิธีกรรม ไสยศาสตร์ เช่นการเลี้ยงผีครู การนำเครื่องรางมาล้างนำสิ่งที่ไม่ ดีออกไป การสักคาถา ยันต์ต่าง ๆ ตามร่างกาย ถือเป็นการเพิ่มความขลัง วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่ เช้าตรู่ มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ทานขันข้าว ทานตุง หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การส่งน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การทานไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการค้ำจุนพระศาสนา มี การทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน วันปากปี

 

กิจกรรมเริ่มที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน มีการบูชาข้าวลดเคราะห์ ช่วงสายเป็นการทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน และสืบชะตาบ้าน กระทำที่กลางหมู่บ้าน ในช่วงสาย ๆ 8-9 โมงเป็นต้นไป ช่วงค่ำ กระทำที่บ้านเรือนของตน มีการจุด เทียนบูชาบ้านเรือน หรือเรียกว่าต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า ใช้เทียนสามเล่ม คือเทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และ เทียนบูชาโชคลาภ บาง ท้องถิ่นจะมีการต๋ามขี้สายเท่าอายุ (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) วันปากเดือน และวันปากวัน ดังที่กล่าวแล้วว่ากิจกรรมของคนเมืองในห้วงเวลาปีใหม่เมืองนั้นมีมาก เพราะ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในรอบปี

ลำพังเฉพาะการดำหัวอย่างเดียวไม่อาจกระทำให้จบสิ้นได้ภายในวันเดียว ดังนั้นจึง มีวันปากปีเพิ่มขึ้นมาเพื่อจะได้ไปดำหัวผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือให้ครบถ้วน แต่กระนั้นเมื่อเพิ่มวันปากปีก็อาจไม่พอ จึง ต้องเพิ่มวันปากเดือนและวันปากวันเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามกิจกรรมในวันปากเดือนและปากวันคือการเดินทางไปดำหัวเพียงอย่างเดียว ไม่มีพิธีกรรมอื่น ๆ โดยหลังจากวันปากปีกิจกรรมของคนเมืองในประเพณีปีใหม่ก็จะเริ่มจางลงไปเรื่อย ๆ ปีใหม่ผ่านไปแล้ว แต่ทิ้งรอยจดจำ รำลึกไปอีกนาน

 

บทความโดย  จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก   เชียงใหม่นิวส์  http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/694560

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *