ชาวบ้านนับพันอพยพหนีตายหลังเหตุทหารพม่าปะทะเคเอ็นยู-องค์กรกุศลระดมความช่วยเหลือฉุกเฉิน นักวิชาการมช.ชี้สะท้อนอุปสรรคกระบวนการสันติภาพ เชื่อกองทัพหม่องแบ่งแยกแล้วปกครอง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 แหล่งข่าวจากกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู) เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารของเคเอ็นยูและทหารรัฐบาลพม่า ซึ่งปะทะกันในเขตตอนเหนือรัฐกะเหรี่ยง ในพื้นที่จังหวัดมือตรอ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองพลที่ 5 โดยล่าสุดได้มีการสรุปสถานการณ์เพื่อรายงานให้ผู้บริหารระดับสูงของเคเอ็นยูว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2018 เวลา 05.00 น. กองทัพพม่าได้เคลื่อนกำลังพลเข้ามายังพื้นที่ชุมชน พื้นทำกิน และเส้นทางสัญจรของราษฎรในเขตพื้นที่มูแปล ตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง โดยกองทัพพม่ามีแผนสร้างถนนซึ่งล้ำเขตกำหนดของจังหวัดมือตรอ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจังหวัดมือตรอไม่อนุญาตให้ดำเนินการ กองทัพพม่าจึงเสริมกำลังพลกดดันทางการทหาร เพื่อดำเนินการสร้างถนนจากหมู่บ้านเคปู เขตมูแปล และคาดการณ์ว่าถนนเส้นนี้กองทัพพม่าอาจเชื่อมมายังบ้านจอท่า ซึ่งเป็นชุมนุมริมแม่น้ำสาละวินที่อยู่ติดชายแดนประเทศไทย

แหล่งข่าวกล่าวว่า กองทัพพม่าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อตกลงต่างๆเป็นที่รับรู้กันทั้งระดับนโยบาย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ตั้งแต่ช่วงปี 2012 แล้ว และหลังการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ NCA (Nationwide Ceasefire Agreement) เมื่อปี 2015 ข้อกำหนดเหล่านี้มีการแจ้งไว้เพื่อทราบ แต่การละเมิดเช่นนี้เปรียบยิ่งกว่าการเข้าบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เข้าค้นสิ่งของในบ้านด้วย ขณะเดียวกันชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นไม่เคยมีการแสดงตัว และหลบเลี่ยงทหารพม่ามาโดยตลอด เมื่อทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้านพวกเขาจึงเกิดความกลัว และหนีออกจากจากชุมชน โดยตอนนี้ในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 8 หมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนชาวบ้านกว่า 1,000 คนที่ได้รับผลกระทบ “การเข้าประชิดพื้นที่ของเราโดยกองทัพพม่า ทหารของเราจึงจำเป็นต้องปะทะเพื่อรักษาเขตแดน และคุ้มกันความปลอดภัยของชาวบ้าน วันแรกของการปะทะเมื่อวันที่ 5 มีนาคม นั้นมีการปะทะเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ในพื้นที่ เหล่อ หมื่อ ปลอ แต่สถานการณ์ยังไม่ใช่การเปิดศึกใหญ่ เป็นเพียงการปะทะขนาดเล็กระหว่างการเผชิญหน้าของทหาร 2 ฝ่าย” แหล่งข่าวจากกองทัพเคเอ็นยูกล่าว และว่าต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม 2018 เกิดการปะทะขึ้นอีก 2 ครั้ง และเช้าวันที่ 7 มีนาคม 2018 เวลา 5.00 น. เกิดการปะทะกันอีกครั้งในเขตพื้นที่เหล่อ หมื่อ ปลอ แหล่งข่าวจากกองทัพเคเอ็นยู่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางจังหวัดมือตรอ พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะทางทหาร แต่ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับจึงอยากให้เจ้าหน้าที่เบื้องบนเข้าใจในความจำเป็นต่อสถานการณ์ว่า สาเหตุเริ่มต้นจากการละเมิดของกองทัพพม่า อย่างไรก็ตามการรายงานสถานการณ์เข้ามายังศูนย์บัญชาการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ทางจังหวัดมือตรอ จะพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ข่าวแจ้งว่า ล่าสุดองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ของกะเหรี่ยง ได้พยายามประสานงานกันเพื่อส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหารและยาไปยังพื้นที่สู้รบ ซึ่งคาดว่ามีผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ด้านดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และหัวหน้าโครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพของพม่าปัจจุบันนั้นแม้ว่าจะดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในการดึงอีก 2 กลุ่มเข้าลงนามใน NCA แต่จะพบว่าในทางปฏิบัตินั้นเกิดความไม่ชัดเจนและขัดแย้งในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไม่ประสานไปในทางเดียวกันระหว่างนโยบายและกองทัพ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามจะทำการตกลงหยุดยิงเพิ่มเติม แต่ทางฝ่ายกองทัพต้องการให้เกิดการวางอาวุธก่อนเข้ามาลงนามหยุดยิง ซึ่งมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์นี้ใช้ไม่เหมือนกันทุกกลุ่มจึงก่อให้เกิดความไม่ไว้ใจกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ ฉะนั้นจึงเป็นการยากมากที่จะดึงให้ทุกกลุ่มเข้าร่วมลงนามสันติภาพได้ “ปัญหาของกระบวนการสันติภาพของพม่าเกิดจากฐานอำนาจและความเท่าเทียมด้านสถานะการเจรจาของทุกฝ่ายยังไม่เกิดความสมดุล ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงแล้วกระบวนการสันติภาพที่เกิดได้จากกรณีต่างๆ ทั่วโลกนั้น ปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” ดร.ฐิติวุฒิ กล่าว ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น สะท้อนปัญหาอุปสรรคในการเจรจาสันติภาพ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตประการหนึ่งคือ สถานการณ์ที่ดำเนินเรื่อยมาอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังสะท้อนสถานะของกองทัพพม่าได้อย่างน้อย 2 ระดับ นั่นคือกองทัพยังคงเป็นเสาหลักในด้านการตัดสินใจดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอำนาจการจำแนกกลุ่มที่จะตกลงหรือไม่ตกลงในการลงนามกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ยังเกิดความคลุมเครือในกรณีของกลุ่มที่มีฐานที่มั่นทางด้านเหนือของรัฐฉานหรือกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือเดิม และหากพิจารณาจากมุมมองทางด้านยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่าแล้วจะพบว่า การดำเนินกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการเจรจาหยุดยิงนั้น มีการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวมาเนิ่นนาน กล่าวได้ว่ากองทัพพม่ามีความต้องการได้รับชัยชนะทางด้านการทหารมากกว่าการดำเนินชัยชนะทางด้านการเมืองต่อกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ “กองทัพพม่ายังใช้นโยบายการแบ่งแยกและปกครองต่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม การเจรจาหยุดยิงเป็นเพียงการสับเปลี่ยนกำลังบางส่วนเพื่อดำเนินการกดดันทางทหารต่อกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น เช่น การสนับสนุนบางกองกำลังให้สู้รบกันเองและเจรจาตกลงแบ่งสรรพื้นที่ผลประโยชน์ให้ วิธีการดังกล่าวจะทำให้ฝ่ายของกองทัพได้ประโยชน์ในการลดการสูญเสียกำลังพล และยังเป็นการพักรบไปในตัวอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เกิดการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า การเจรจาสันติภาพในปัจจุบันมีเป้าหมายเพียงให้เกิดการวางอาวุธเท่านั้นและมิได้ก่อให้เกิดการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนและแท้จริง” ดร.ฐิติวุฒิ กล่าว นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ฯ ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่ให้มีการสร้างกติกาสำหรับการเคลื่อนกองกำลังในพื้นที่ว่าเป็นหลักพื้นฐานหรือมาตรฐานในการคงกองกำลังอยู่ในที่ตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้ง กระนั้นจะพบว่า ในแง่มุมของความมั่นคงแล้ว การสร้างกฎเกณฑ์การเคลื่อนกำลังในพื้นที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อการแสดงออกถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการการเจรจาสร้างข้อตกลงที่แลกเปลี่ยนหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารก่อนการเคลื่อนย้ายระหว่าง 2 ฝ่ายเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่การปะทะในที่สุด ซึ่งประเด็นยังมีความเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องการตั้งชุดคณะกรรมการติดตามการหยุดยิงอีกด้วย

ขอขอบคุรแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18508 .

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *