จับตา 5 พรรคการเมืองทางเลือกใหม่กระแสแรง-สีสันแบบถึงกึ๋น

 

บรรยากาศการแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรก (2 มี.ค.61) ณ สนง.กกต. ณ อาคาร B ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.เวลา 7.30 น วันนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ร่วมสังเกตการณ์ การลงชื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรก บรรยากาศโดยรวมตลอดทั้งวัน มีผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ทั้งหมด 41 พรรคการเมือง

สำหรับพรรคการเมือง ที่น่าจับตาคือ  5  พรรคการเมืองทางเลือกใหม่กระแสแรง-สีสันแบบถึงกึ๋น

 เมื่อเห็นภาพกลุ่มการเมืองทยอยเดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างคึกคัก หลายคนน่าจะเริ่มจินตนาการถึงบรรยากาศการใช้สิทธิเลือกพรรคการเมืองอีกครั้งแม้ว่าจะระยะทางก่อนถึงช่วงเลือกตั้งยังมีม่านหมอกบางอย่างพร้อมปกคลุม แต่เอาเถอะ อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ลองมองที่สถานการณ์ในปัจจุบันกันก่อน บรรดาพรรคการเมืองทั้งที่มาแจ้งชื่อในวันแรกและพรรคการเมืองน้องใหม่ที่ตกเป็นข่าวเปิดตัวก่อนหน้ากำหนดวันเปิดให้ยื่นแจ้งชื่อได้มีหลายกลุ่มที่ทำให้วงการการเมืองต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์สถานการณ์และความน่าจะเป็นในสนามเลือกตั้งไปจนถึงอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยเมื่อมีตัวผู้เล่นที่น่าสนใจเข้ามาเพิ่มเติมหลายราย
 ลองมาดูกันว่า วันแรกที่เปิดให้ยื่นแจ้งชื่อพรรคการเมือง พรรคการเมืองใหม่และตัวละครที่เปิดหน้ามานั้นมีใครที่มาพร้อมสีสันและกระแสที่น่าสนใจ น่าจับตาบทบาทในแวดวงการเมืองกันบ้าง
5. พรรคเพื่อชาติไทย และพรรคพลังชาติไทย 
ในบรรดาชื่อคนดังที่เป็นเข้าร่วมพรรคการเมืองใหม่ มีชื่อที่น่าสนใจอย่าง “กลุ่มเพื่อชาติไทย” ซึ่งนำมาโดยนางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร อดีตภรรยาพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้ทำรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ.2535 นางอัมพาพันธ์ เป็นภรรยาคนสุดท้ายของบิ๊กจ๊อด อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าของฉายา “นายทหารชายเสื้อคับ” นางอัมพาพันธ์ เป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม ควบคู่ไปกับข่าวคราวระหว่างการอยู่ร่วมกับนายทหารที่ขึ้นชื่อเรื่องความโผงผาง และการฝ่ามรสุมชีวิตหลังจากการจากไปของนายทหารคนดัง กับการรับมือคดีความหลายครั้ง รวมถึงช่วงปี 2552 กรณีเช็คเด้งกับคู่ความที่เป็นบริษัทค้าเพชร
 ภายหลังเจอมรสุมชีวิต นางอัมพาพันธ์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฮูแมกกาซีน ระบุว่า เธอหันหน้าเข้าพึ่งพิงธรรมะ ช่วยให้ชีวิต “หยุดความอยากลงได้เยอะมาก”
 กระทั่งปี 2561 นางอัมพาพันธ์ กลับมาในแวดวงการเมืองอีกครั้งหลังหายหน้าไปพักใหญ่ จึงต้องจับตาว่าการกลับมาของผู้หญิงในครอบครัวทหารจะมีเส้นทางเป็นอย่างไร โดยก่อนหน้าวันแจ้งเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง กระแสข่าวเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของนางอัมพาพันธ์ มีข่าวสะพัดว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง “หนุนบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อีกหนึ่งพรรคที่เกี่ยวข้องกับทหารอย่างชัดเจนที่ต้องจัดให้อยู่ในลำดับเดียวกันคือฝั่ง “พรรคพลังชาติไทย” หัวเรือใหญ่ที่นำมาครั้งนี้คือพล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ซึ่งเคยมีบทบาทในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของคสช.
 กลุ่มการเมืองของพล.ต.ทรงกลด รวบรวมอดีตนักการเมืองจากกลุ่มต่างๆ โดยมีนโยบายที่น่าจับตาหลายอย่างจากที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อดังเมื่อปี 2560 โดยระบุว่า พร้อมหนุนเรื่องบ่อนการพนัน หวยออนไลน์ และสถานบันเทิงแบบถูกกฎหมายโดยมองในด้านประโยชน์แง่รายได้เข้ารัฐ
 เรื่องธุรกิจสีเทาเหล่านี้เป็นประเด็นร้อนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการจับตากลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องและเคยเกี่ยวข้องกับทหารกลุ่มนี้แล้ว
4. พรรคของกปปส. หรือชื่อเต็มว่า “พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข”
แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังยอมรับว่า การแบ่งกลุ่มกปปส.แยกออกมาส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์จากที่ทั้งคู่ต่างมีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่ภาคใต้เหมือนกัน เมื่อกระแสข่าวเรื่องนายธานี เทือกสุบรรณ รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เตรียมเข้าจดทะเบียนพรรคการเมืองของกลุ่มกปปส.โดยเฉพาะ ทิศทางที่ออกมาก็ชัดเจนว่าพวกเขาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ กลับมานั่งบริหารประเทศต่อ
 แต่ประเด็นที่ยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่คือความเป็นไปได้ในความเป็นจริงถ้ามองในแง่กระแสความนิยม หรือการรวบรวมสมาชิกพรรคด้วยการเชิญชวนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมด้วยว่าจะมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์สนใจมากน้อยแค่ไหน
 เชื่อกันว่าถ้าพรรคกปปส.เกิดขึ้นจริง ทิศทางการเมืองน่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งต่อ ถ้าเป็นลักษณะนี้จะไม่น่าจับตาได้หรือ!!
3. พรรคไทยศรีวิไลย์
สีสันในแวดวงการเมืองไม่ได้มีแค่นักการเมืองคนดังระดับบิ๊กเท่านั้น ที่ผ่านมา มีบุคคลในแวดวงบันเทิงหรือคนรู้จักในหมู่สังคมกลุ่มต่างๆ เข้ามาสร้างสีสันมากมาย กระแสคนดังในโลกออนไลน์ยุคนี้ที่เป็นสังคมของคนยุคดิจิทัลก็มีคนที่เข้ามาเล่นการเมืองเหมือนกัน
นอกเหนือจากแกนนำใหญ่อย่างนายมงคลกิตต์ สุขสินธรานนท์ ซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พรรคศรีวิไลย์มีนายณัชพล สุขพัฒนะ หรือที่ชาวไซเบอร์รู้จักกันในชื่อ “มาร์ค พิทบูล” เป็นรองหัวหน้ากลุ่ม
มาร์ค พิทบูล” มักเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงที่มีประเด็นดังและมักปรากฏตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมหลายครั้งทั้งกรณีครูจอมทรัพย์ หรือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร แม้ส่วนใหญ่จะจบลงไม่สวยนัก แต่ “มาร์ค พิทบูล” มีฐานแฟนที่ติดตามความใจถึงอยู่มากพอสมควร
นโยบายของพรรคที่ปรากฏในหน้าสื่อคือการสานต่อบางสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำไว้ อาทิ ปราบคอร์รัปชั่น ขณะที่บางกระแสมีข้อมูลเผยว่ากลุ่มนี้ไม่ได้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่แค่สานต่อบางด้านที่รัฐบาลทหารดำเนินการไว้แล้ว
 
2. พรรคเกรียน
 กลายเป็นกระแสในกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมกันยกใหญ่เมื่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์หรือที่รู้จักกันในชื่อบก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อนหน้าวันเปิดให้จดแจ้งเตรียมตั้งพรรคการเมือง ระดมอาสาสมัคร 15 รายเพื่อร่วมจัดตั้งพรรคเกรียน
 แค่ชื่อก็เรียกความสนใจจากคนหลากหลายกลุ่มมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายแล้ว ขณะที่นายสมบัติ โพสต์ตอบความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายความหมายของ “พรรคเกรียน” ว่า “ตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารความคิดบางอย่างรวมถึงมันเป็นรูปแบบประเภทหนึ่งในการทำงานการเมืองยุคนี้
ส่วนชื่อพรรคจริงๆจะเป็นอย่างไร มติพรรคจะเป็นคนกำหนดครับ เราเป็นพรรคมวลชนขนานแท้”
 บางรายยกกรณีการจดพรรคการเมืองชื่อ “พรรคปากหมา” ของสมิตร สมิทธินันท์ เมื่อ 3 ทศวรรษก่อนมาอ้างอิง ซึ่งมีผู้อ้างว่า “พรรคปากหมา” สามารถจดเป็นพรรคการเมืองได้
 มาถึงตรงนี้คงสนใจเรื่องทิศทางการบริหารและนโยบายพรรคของกลุ่มนี้แล้ว กรณีนี้บก.ลายจุดโพสต์ข้อความอธิบายว่า “พรรคเกรียนจะไม่ไปสนใจเรื่องคะแนนเสียง เราต้องการทำห้องทดลองและปฏิบัติการทางการเมืองในลักษณะพรรคมวลชน เพื่อดูว่าถ้าประชาชนบ้านๆจะทำพรรคการเมืองมันทำได้จริงหรือเปล่า โดยเราจะใช้พรรคเกรียนและการเลือกตั้งเป็นสถานีทำ Workshop ผลิตนโยบายจำนวนมหาศาลขึ้นมา ส่วนเรื่องคะแนนเสียงไม่แคร์ครับ ตามคำขวัญที่ว่า ‘ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง’”
หลายคนอาจเริ่มไม่แน่ใจว่าพรรคนี้จริงจังในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป
1. กลุ่มของ “ไพร่หมื่นล้าน” จับมือนักวิชาการดัง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” 
ถ้าพูดถึงกลุ่มการเมืองใหม่ที่ถูกจับตามากที่สุดในเวลานี้ คงไม่มีใครเกินกระแสของ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารหนุ่ม ซึ่งตกเป็นข่าวจับมือกับผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างพรรคทางเลือกใหม่โดยคนรุ่นใหม่
วันแรกที่เปิดให้แจ้งชื่อเตรียมตั้งพรรคการเมือง บีบีซีไทยเผยแพร่บทความพิเศษเกี่ยวกับการจับมือกันของคนรุ่นใหม่ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ผศ.ดร.ปิยบุตร พิจารณาออกจากรั้วสถาบันการศึกษา และออกมาทำงานทางการเมือง
อาจารย์คนดังจากรั้วแม่โดมเคยกล่าวบนเวทีสัมมนาสภานิสิต นักศึกษาอุดมศึกษาทั่วประเทศ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาตอนหนึ่งผศ.ดร.ปิยบุตร มองว่า วังวนทางการเมืองที่อยู่ในรูปแบบเดิม คนหน้าเดิม รัฐธรรมนูญใต้ระบบคิดแบบเดิม การมีทางเลือกใหม่ รูปแบบใหม่โดยคนรุ่นใหม่ก็เป็นกระแสที่เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่าอาจมีส่วนช่วยบรรเทาความขัดแย้งระหว่างตัวละครเดิมได้
 กลุ่มการเมืองใหม่นี้แสดงสัญญาณน่าจับตาอย่างยิ่ง แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครยืนยันชื่อพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการได้ สำหรับแนวทางการเมืองที่อาจารย์คนดังให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยมีแนวโน้มอ้างอิงไปทางพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ในยุโรป ซึ่งอาจเป็นทางออกจากพรรคเดิมๆที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา
รายชื่อพรรคการเมือง ทัง 41 พรรค 
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก https://gmlive.com/5-thai-new-wave-political-party
แหล่งข่าวจาก – ข่าวชัดประเด็นจริง   http://www.khaochad.com/170239?r=1&width=1600

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *