“ขุนพันธรักษ์ราชเดช” มือปราบจับเสือมือเปล่า

กูสาบานว่าจะจับเป็นถ้าพวกมึงเลิกเป็นโจร”ประกาศิตจากมือปราบสิบทิศร่างเล็กแต่ใจใหญ่ ผู้มากด้วยบารมีไม่มีใครไม่รู้จัก “ขุนพันธ์ ดาบแดง”

         ที่ไหนประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากการปล้นฆ่าของเหล่าเสือร้าย  ที่ออกอาละวาดไม่เกรงกลัวกฏหมายบ้านเมือง กรมตำรวจจะมีคำสั่งด่วนให้มือปราสิบทิศต้องปฏิบัติการกวาดล้างทันที

         วีรกรรมเมื่อครั้งปราบ “เสือสาย” โจรโหดเหี้ยมมาจากจังหวัดปทุมธานี หอบหิ้วพรรคพวกชุมโจรมากกว่า 30 ชีวิต มาตั้งรกรากเป็นซ่องซุ้มโจร แผ่อิทธิพลถึงด้ามขวานทองของไทยที่จังหวัดสุราษฏร์ธา่นี ก่อเหตุความไม่สงบไม้เว้นแต่ละวัน ไม่เกรงกลัวกฏหมายบ้านเมือง ถึงขั้นเหิมเกริมฆ่าตำรวจ ชื่อ “พลตำรวจสังวร” ขณะที่ “พลตำรวจสังวร” ได้นำหมายเรียกมาให้เมียของเสือสาย ระหว่างนั้นเสือสายดักซุ่มโจมตี เข้าประชิดตัวจ้วงแทงยับนับสิบแผล ชนิดที่เรียกได้่ว่าพลตำรวจสังวรยังไม่ทันระมัดระวังตัว และสิ้นใจตายในที่สุด

        เสือสายฆ่าตำรวจในครั้งนั้น สร้างความโกรธแค้นให้กับ “มือปราบสืบทิศ” เป็นอย่างมาก กับการสูญเสียเพื่อนตำรวจในครั้งนั้น  ถึงกับลั่นวาจาสาบานจะเด็ดหัว “เสือสาย” มาสังเวยการตายของพลตำรวจสังวรให้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เสือสายหวาดกลัว ต้องหนีหัวซุกหัวซนเข้าป่าลึก ส่งผลให้ตำรวจยากต่อการไล่ล่าตามเอาชีวิต

         ว่ากันว่า เป็นอีกครั้งที่ขุนพันธ์ต้องใช้วิชาโหงพรายเรียกวิญญาญพลตำรวจสังวร ให้มา “ชี้เป้า” ร่วมไล่ล่าเสือสาย เพราะตามตำราโหงพรายคนตายที่ยังไม่ถึงวัยอันควรนั้นมีพลังแก่กล้ายิ่งนัก  ตามเรื่องเล่าตำรวจที่ร่วมไล่ล่าเสือสายต่างมองเห็นพลตำรวจสังวรเดินนำหน้า หรือนั่งหน้าเรือเวลาออกลาดตระเวนล่าเสือสายตามลำน้ำ

         ในที่สุด”ขุนพันธ์” ก็นำกำลังตำรวจไล่ล่าจับเสือสายสำเร็จ ขณะที่เสือสายเป็นไข้และถูกจับเข้าห้องขังต่อมาเสียชีวิต ว่ากันว่า”ขุนพันธ์” ได้ทำพิธีสะกดดวงวิญญาณเสือสายและนำกระโหลกศรีษะของเสือสายมาเป็นที่“เขี่ยบุหรี”สร้างความสะพรึ่งกลัวให้กับโจรร้าย ที่หนีการจับกุมของตำรวจเป็นอย่างมาก

 วันนี้่ในอดีต เมื่อ 115 ปี มาแล้ว ตรงกับวันเกิดของ ขุนพันธ์ หรือ  พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือชื่อเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เพราะเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโกอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์

          เริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน เมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3

          เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ จึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มี”ครูเพิ่ม ณ นคร” เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์วรวิหาร (หรือเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน)

         พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดต้องพักรักษาตัวปีกว่าจะหาย  เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 3 แล้ว

         จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2459 โดยไปอยู่กับ “พระปลัดพลับ บุณยเกียรติ” ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่ “โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร“ในปัจจุบัน เข้าเรียน พ.ศ. 2461 เลขประจำตัว บ.บ. 1430 ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2ได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติก จากครูหลายคน เช่น ครูย้อย ครูศิริ ครูนก ครูมณี จนมีความชำนาญในเชิงมวย ในช่วงวัยเรียนนี่เองที่”ขุนพันธ์” เริ่มสักยันต์ มีทั้ง ลิงลม หนุมาน พาลี ฯลฯ จนกระทั้งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2467

        ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่ The Crocodile Creek Royal Police Cadet Academyโรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้(โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบัน)จังหวัดนครปฐม   ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ. 2472

         หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลาในปี พ.ศ. 2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็น“ว่าที่ร้อยตรี”

        1ปีต่อมาได้ย้ายมาเป็น”ผู้บังคับหมวด”ที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือเสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง

 “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอมอำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง อีกทั้งยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงปราบได้ยาก แต่่ก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ ร่วมกับ”พลตำรวจเผือก ด้วงชู” มี “นายขี้ครั่ง เหรียญขำ” เป็นคนนำทาง สร้างความพอใจให้กับ”เจ้าพระยาศรีสุรเสนา”ที่ไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น“ร้อยตำรวจตรี”ส่วนพลตำรวจเผือก ชูด้วง เป็นสิบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท

        ด้วยความดีความชอบ ที่ปราบเสือร้ายสำคัญๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช’” และในปี พ.ศ. 2478 ได้รับเลื่อนยศเป็น “ร้อยตำรวจโท” ในปีเดียวกันได้อุปสมบทที่ “วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร”จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ)เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา ในปี พ.ศ. 2479 และ่ได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน

        “อะแวสะดอ ตาและ” จอมโจรแห่งเทือกเขาบูโด นัยว่าเป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน  กำบังกาย สะเดาะกลอนประตูได้ จอมขมังเวทย์คนนี้เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธ มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน เป็นผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส เมื่อปี 2481 ขุนโจรชาวมุสลิมผู้เชี่ยวชาญด้านคุณไสย มนต์ดำ ผู้มีสันดานโจร ใจคอโหดเหี้ยม ไม่มีผู้ใดกล้าแตะ

 “ขุนพันธ์” แก้เคล็ด สยบมนต์ดำ ด้วยการให้มารดาบังเกิดเกล้า ใช้เท้าขยี้ลงบนศรีษะ3 รอบ เพื่อเป็นศิริมงคล และเพื่อเป็นการทำลายอาถรรพ์ในตัว “อะแวสะดอ ตาและ”แม้กระสุนทำอะไรไม่ได้(คายกระสุนออกจากปาก 9 นัด ระหว่างถูกตำรวจสอบปากคำ)แต่ทำให้“อะแวสะดอ ตาและ”หมดเรี่ยวแรง เปลี่ยนสภาพจาก”เสือร้าย”กลายเป็น”แมว”ยอมให้จับกุมในที่สุด

“ขุนพันธ์” ได้ยึด”กริชอาคม”เอาไว้เป็นที่ระลึก และกลายเป็นของคู่กายคู่กับ”ดาบแดง”ที่เป็นสมบัติตกทอดจากพระยาพิชัย เนื่องจากขุนพันธ์เป็นบุตรบุญธรรมของ”หลวงกล้า กลางณรงค์”ต้นตระกูลพระยาพิชัย

         วีระกรรมครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ “ขุนพันธ์” ได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า “รายอกะจิ” หรือแปลว่า “อัศวินพริกขี้หนู” และได้เลื่อนยศเป็น “ร้อยตำรวจเอก” ในปีนั้นเอง

         พ.ศ. 2482 ขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ. 2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ

         “ขุนพันธ์” ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือปีพ.ศ. 2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้มหรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็น “พันตำรวจตรี”เมื่อปีพ.ศ. 2489 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว  เสือมเหศวร เป็นต้น

         กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากยากต่อการปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้ง “กองปราบพิเศษ” ขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้ “พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์”เป็นผู้อำนวยการกองปราบและ “พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช”เป็นรองผู้อำนวยการกองปราบพิเศษ ได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้ายแต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท

        ครั้งนั้นขุนพันธ์ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า “ขุนพันธ์ ดาบแดง” ฝีมือขุนพันธ์ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2,000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ ไม่สนใจ คงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ  อยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมที่กำแพงเพชร

         ขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจและขุนพันธ์ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย แต่”พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ” อธิบดีกรมตำรวจ ยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วนและแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง”ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดกำแพงเพชร”

         ปี 2490 “ขุนพันธ์” ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ ให้มีสมรรถภาพขึ้นและปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกร กับ เสือวัน แห่งอำเภอพรานกระต่ายจังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของท่านยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ กลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญๆสิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่น

        นอกเหนือจากงานด้านปราบปราม ที่เป็นงานที่ถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ขุนพันธ์เป็นพิเศษแล้ว ยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก

         แต่ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไป เมื่อกรมตำรวจจัดตั้ง”กองตำรวจรถไฟ”ขึ้น ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ จึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศ เป็น“พันตำรวจโท” ในปี พ.ศ. 2493 และอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ. 2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น“พลตำรวจตรี”จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2507

          ยุคสมัยที่ท่าน “หลวงอดุลย์เดชจรัส”  เป็น อธิบดีกรมตำรวจ จัดได้ว่านามของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” ระบือลือลั่นสุดยอดแผ่นดินด้ามขวานทอง แม้ขุนพันธ์ปลดเกษียณราชการไปนานปี แต่ชื่อเสี่ยงยังอยู่ในความทรงจำของกรมตำรวจและประชาชนคนไทย

          ตำนวนอมตะชีวประวัติของวีรบุรุษเล็กพริกขี้หนู ที่มีนามว่า “นายร้อยบุตร พันธรักษ์ราชเดช” หรือขุนพันธรักษ์ราชเดช ถูกนำมาสร้างเป็นหนังฟอร์มยักษ์เมื่อปี 2559  มีฉากฆ่าตัดคอถึง 182 ครั้ง มีดาราชั้นนำของไทยร่วมแสดงมากมาย และมี “อนันดา  เอเวอร์ริ่งแฮม”นักแสดงมากฝีมือ สวมบทบาท“ขุนพันธ์” มี“น้อย วงพรู”สวมบทบาท”อะแวสะดอ ตาและ”จอมโจรขมังเวทย์ สร้างกระแสรักชาติ

         ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช เคยเป็น ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์  จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 อีกทั้งเคยเป็นนักคิด นักเขียน นักอ่านตัวยง มีผลงานปรากฏมากมาย ส่วนมากเป็นข้อเขียนความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้ สองเกลอ ช้างเผือกงาดำ หัวล้านนอกครู ศิษย์เจ้าคุณมวยไทยเชื่อเครื่องกรุงชิง

        เฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้น ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช เล่าว่าเป็นเรื่องที่เขียนทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน “รูสมิแล” วารสารของมหาวิทยาลัยปี 2526

         ชีวิตครอบครัว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช มีภรรยาคนแรกชื่อ เฉลา ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน 8 คน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อ สมสมัย มีบุตรด้วยกัน 4 คน รวมมีบุตร 12 คน

         “พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช” เป็นคนสุดท้ายของประเทศไทย ที่ได้รับพระราชทานทินนาม ซึ่งพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา  เมื่ออายุได้ 103 ปี ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เวลา 23.27 น. ที่บ้านเลขที่ 764/5 ซอยราชเดช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช

         ณ วันนี้ภายใต้ร่มธงไตรรงค์ จะมีนายตำรวจกี่คนที่ประชาชนร่วมล่ารายชื่อเพื่อขอให้มาช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างความร่มเย็นให้บ้านเมืองสงบสุข จะมีนายตำรวจสักกี่คนที่มีคำพูดเป็นประกาศิตไม่กลับกรอกไปมา จะมีนายตำรวจสักกี่คนที่”โจรร้าย”แต่ได้ยินแค่ชื่อก็ “กลัวหัวหด” และรักประชาชน รักเพื่อตำรวจร่วมอาชีพ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวตนของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช”มือปราบจับเสือมือเปล่า

——-//——-

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Youtube

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – คมชัดลึก   http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/313718

 

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *