ไนทอว์มอญ ประธานพรรครัฐมอญใหม่ (The New Mon State Party-NMSP) ได้ออกมาเรียกร้องต่อนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าให้ยุติใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีในเขตพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดได้เข้าร่วมลงนามหยุดยิงแห่งชาติ โดยระบุอีกว่า แม้ทางกลุ่มชาติพันธฺุ์จะยังมีข้อกังขาและกังวล แต่ก็ได้เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพกับทางฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการยุติความขัดแย้งและสงครามการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ถ้อยแถลงนี้ของประธานพรรครัฐมอญใหม่ กล่าวขึ้นในวันที่มอญได้ร่วมลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อวันที 13 ก.พ.ที่ผ่านมา
ผู้นำมอญกล่าวว่า จากประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ยังรู้สึกกังวลและกังขาต่อกระบวนการสันติภาพของรัฐบาลพม่า แต่เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนทั้งจากในอดีตและในปัจจุบัน จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าร่วมทำงานกับฝ่ายพม่า ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการสันติภาพและยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น “เมื่อพูดถึงสันติภาพ สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ การหยุดยิง การพัฒนาในเขตพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ และการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง ซึ่งทั้งสามสิ่งมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่า การสร้างสันติภาพยังต้องมีอยู่สองด้าน คือการยุติความขัดแย้งทางทหารและการสร้างสหพันธรัฐที่ให้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมและมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง” ไนทอว์มอญกล่าวในพิธีลงนามหยุดยิงที่กรุงเนปีดอว์ที่ผ่านมา โดยในพิธีดังกล่าวมีผู้นำระดับสูงในรัฐบาลพม่าอย่างดอว์ซูจีและรองประธานาธิบดีทั้งสองคน รวมถึงพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญการทหารสูงสุดของกองทัพเข้าร่วมพิธีและเป็นสักขีพยานด้วย ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธกลุ่มล่าสุดที่เข้าร่วมลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าคือ พรรครัฐมอญใหม่และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union-LDU) จนถึงขณะนี้มีกลุ่มติดอาวุธ 10 กลุ่ม จากทั้งหมด 21 กลุ่ม ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ทางด้านนางซูจีกล่าวว่า รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อลดความตึงเครียดและความขัดแย้งในประเทศ โดยเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศมีความเชื่อใจและเข้าใจกัน และเรียกร้องให้กลุ่มติดอวุธที่เหลือเข้าร่วมลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลโดยเร็ว เช่นเดียวกับทางพลเอกมิ้นอ่องหล่ายที่ระบุว่า ทางกองทัพพม่าเองก็ต้องการเห็นพิธีลงนามหยุดยิงเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ด้านนายอ่องหน่ายอู ประธานสภานิติบัญญัติรัฐมอญกล่าวว่า การลงนามหยุดยิงเป็นก้าวแรกของกระบวนการสันติภาพ โดยเชื่อว่า กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินไปจะไม่ถอยลงคลอง อีกทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวมอญต่างแสดงความยินดีที่พรรครัฐมอญใหม่ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้านสำนักข่าวไทใหญ่อย่างเว็บไซต์ข่าวป๋างโหลงได้วิเคราะห์ว่า เหตุที่มอญตัดสินใจลงนามหยุดยิงมีอยู่หลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น หากทางพรรครัฐมอญใหม่ยังคงมีท่าทีเหมือนเช่นที่ผ่านมาจะทำให้ประสบความยากลำบากยิ่งขี้นในอนาคต และเมื่อเร็วๆ นี้ทางกองทัพพม่าได้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียนแห่งชาติมอญที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมของพรรครัฐมอญใหม่เหมือนเป็นการกดดันอีกฝ่าย อีกทั้งที่ผ่านมาพรรครัฐมอญใหม่ยังมีปัญหากระทบกระทั่งกับทางกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยงอย่าง KNU จึงคล้ายกับว่า พรรครัฐมอญใหม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก จึงต้องลงนามหยุดยิงในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังวิเคราะห์อีกว่า คนมอญเป็นจำนวนมากได้กลายเป็นคนพม่าไปแล้ว และอีกสาเหตุที่คนมอญอาศัยอยู่กระจัดกระจาย ไม่เฉพาะแต่ในรัฐมอญเท่านั้น แต่ยังพบคนมอญอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศ เช่น เขตอิรวดี เขตมะเกว เขตย่างกุ้ง ทำให้คนมอญไม่สามารถรวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น และส่งผลกระทบในการสนับสนุนกองทัพมอญในท้ายที่สุด สอดคล้องกับผู้นำมอญบางส่วนที่มองว่า การตัดสินใจลงนามครั้งนี้เชื่อว่า มอญจะได้เปรียบทางการเมือง และถึงแม้หากทุกอย่างจะไม่เป็นดังที่มอญหวัง แต่ทางมอญยังเชื่อว่าสามารถหันกลับมาจับปืนต่อสู้ได้อีกครั้ง แต่อีกกระแสหนึ่งมีรายงานว่า เหตุที่มอญลงนามหยุดยิงเนื่องจากผู้นำมอญมีทรัพย์สินจำนวนมากในรัฐมอญจึงไม่ต้องการกลับไปลงสนามรบ นอกจากนี้เผชิญกับปัญหากำลังพลขาดแคลน ไม่สามารถต่อกรกับทหารพม่าในยามศึก ถึงแม้จะมีตัวเลขทหารมอญอยู่คร่าวๆ จำนวน 1,500 นาย แต่ทหารส่วนใหญ่ได้แยกจากกองทัพกลับไปอยู่กับครอบครัว จึงอยู่ในสถานการณ์ไม่พร้อมรบ อีกทั้งยังวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่มอญลงนามหยุดยิงเพราะความสิ้นหวังหลังสภาสหพันธรัฐแห่งสหภาพ (United Nationlities Federal Council : UNFC) ได้ล่มสลายลง หลังทางกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่เคยเป็นสมาชิกได้ทยอยออกจากกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง KNU ไทใหญ่ SSPP/SSA เป็นต้น และหลังจากมอญและลาหู่ได้ลงนามหยุดยิงกับพม่า ขณะนี้ UNFC ก็เหลือแค่คะเรนนี KNPP และกลุ่มยะไข่ ALP เท่านั้น ก่อนหน้านี้มี 12 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ UNFC ขณะที่สำนักข่าวไทใหญ่ป๋างโหลงยังวิเคราะห์ว่า กลุ่มติดอาวุธที่เหลืออย่างคะเรนนี KNPP และยะไข่ ALP จะไม่ลงนามกับรัฐบาลพม่าในเร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างเช่น คะเรนนี KNPP ยังมีปัญหากับกองทัพพม่า อย่างไรก็ตามสำนักข่าวไทใหญ่มองว่า ในอนาคตกลุ่มติดอาวุธจะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ กลุ่มที่ลงนามหยุดยิงและกลุ่มที่คัดค้านการลงนามหยุดยิง อย่างเช่นกลุ่มพันธมิตรทางเหนือนำโดยกองทัพว้า การแบ่งออกเป็นสองฝ่ายนี้เองจะทำให้การเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพม่าและกองทัพพม่ามีมากขึ้น แต่ก็ไม่เชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ทางเหนือจะสามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังวิเคราะห์อีกว่า ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะเห็นด้วยกับแนวคิดก่อตั้งสหพันธรัฐ แต่เมื่อถึงเวลาลงมือปฏิบัติจริงกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มต่างก็รักแต่พวกพ้องเดียวกันทั้งนั้น ซึ่งหากไม่สามารถข้ามผ่านทัศนคตินี้ได้ จึงไม่ควรคาดหวังให้คนพม่าหันมาร่วมสร้างสหพันธรัฐที่แท้จริงกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มา Mon News Agency/SHAN/Irrawaddy แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=18408 .